ข้อแนะนำสำหรับผู้เดินทาง ไปเที่ยวอย่าลืมอ่านก่อนกลับเข้าประเทศไทย

การเดินทางเข้าประเทศไทย อย่าลืมอ่านข้อมูลตรงนี้ก่อนเดินทางนะคะ จะได้ทราบว่าคุณมีสิทธิอย่างไรบ้างและทำอะไรได้บ้างถ้าหากโดนเรียกเก็บภาษีเมื่อไปถึงสนามบิน

สำหรับผู้โดยสารขาเข้า

กรมศุลกากรได้จัดบริการการดำเนินการพิธีการศุลกากรให้แก่ผู้โดยสารขาเข้า ตามมาตรฐานสากล โดยจัดช่องผ่านพิธีการศุลกากรไว้ 2 ช่องทาง ได้แก่
ช่องเขียว "ไม่มีของสำแดง"สำหรับผู้ไม่มีของต้องเสียภาษีอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด
ช่องแดง "มีของต้องสำแดง"สำหรับผู้ที่มีของต้องเสียภาษีอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือไม่แน่ใจว่าของที่นำเข้ามานั้น ต้องเสียภาษีอากรหรือไม่

ช่องเขียว (Nothing to Declare) เฉพาะ ผู้โดยสารที่นำของดังต่อไปนี้ติดตัวเข้ามา
- ของใช้ส่วนตัวที่มีปริมาณสมควรสำหรับใช้ส่วนตนและมีมูลค่ารวมทั้งหมดไม่เกิน 10,000 บาท (ซึ่งมิใช่ ของต้องห้าม ต้องกำกัด หรือเสบียง)
- บุหรี่ไม่เกิน 200 ม้วน หรือ ยาสูบ ไม่เกิน 250 กรัม หรือน้ำหนักรวมทั้งหมดทุกประเภท ไม่เกิน 250 กรัม
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาตร ไม่เกิน 1 ลิตร
หากนำมาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด โปรดหย่อนใส่กล่องที่กรมศุลกากรจัดไว้ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดี

คำเตือน: กรมศุลกากรเน้นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร โดยมิทำการตรวจสัมภาระผู้โดยสารทั้งหมดแต่ทำการสุ่มตรวจด้วยเครื่อง X-Ray ตามหลักมาตรฐานสากล

ช่องแดง (Goods to declare)
1.ของที่มีภาระต้องชำระอากร
- ของที่ผู้โดยสารนำเข้ามามีปริมาณเกินกว่าที่จะใช้สำหรับส่วนตน และ/หรือมีมูลค่ารวมทั้งหมดเกิน 10, 000 บาท
- สิ่งของที่นำมาเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อการพาณิชย์ หรือ ทางการค้า หรือมีลักษณะทางการค้า

2.ของต้องห้าม หมายถึง ของที่ห้ามไม่ให้นำเข้ามา หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เช่น
- สารเสพติด
- วัตถุหรือสื่อลามก
- ของลอกเลียนแบบละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา
- ธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ปลอม
- สัตว์ป่าสงวน
การฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เช่น มีไว้ในครอบครองหรือมีไว้เพื่อเสพ หรือเป็นผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ขนส่ง อาจมีโทษถึงประหารชีวิต

3.ของต้องกำกัด หมายถึง ของบางชนิด ที่กฎหมายควบคุมการนำเข้ามา และการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การนำเข้าและการส่งออกของต้องกำกัด ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องนำมาแสดงในเวลาปฏิบัติพิธีการศุลกากรด้วย ตัวอย่างเช่น

ประเภท องค์กรที่มีหน้าที่ควบคุม
* พระพุทธรูป ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ กรมศิลปากร
*อาวุธปืน กระสุน วัตถุระเบิด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
*พืช และส่วนต่างๆของพืช กรมวิชาการเกษตร
*สัตว์มีชีวิต และซากสัตว์ กรมปศุสัตว์ หรือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
*อาหาร ยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
*ชิ้นส่วนยานพาหนะ กระทรวงอุตสาหกรรม
*บุหรี่ ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมสรรพสามิต
*เครื่องมือวิทยุสื่อสาร อุปกรณ์โทรคมนาคม สำนักการอนุญาตกิจการเฉพาะกิจ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช)
หากของที่ผู้โดยสารนำติดตัวมามีมูลค่ารวมทั้งหมดเกิน 80,000 บาท ผู้โดยสารต้องทำเอกสารปฏิบัติพิธีการศุลกากรที่ ส่วนบริการภาษีอากร

ข้อลงโทษ หาก หลีกเลี่ยง การ สำแดง!
โดนปรับ 4 เท่าของมูลค่าของ บวกค่าภาษีและอากร หรือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และของที่หลีกเลี่ยงการชำระอากรต้องถูกริบเป็นของแผ่นดิน ตามกฎหมายศุลกากร

การฝากเก็บของไว้ในอารักขาศุลกากร
ผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและมีของที่ต้องชำระภาษีอากร ของต้องกำกัดซึ่งไม่ประสงค์จะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยสามารถนำของดังกล่าวมาเก็บไว้ในอารักขาศุลกากรได้ ณ สำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานที่เดินทางเข้ามาเป็นเวลาไม่เกิน2เดือน โดยต้องแสดงตั๋วเดินทาง ไปประเทศที่สาม ณ เวลาที่นำของมาฝากและชำระค่าธรรมเนียมในอัตราที่กำหนดด้วยในวันเดินทางออกนอกราชอาณาจักรซึ่งผู้โดยสารสามารถขอรับของ ดังกล่าวคืนโดยแจ้งเจ้าหน้าที่สายการบินขณะยื่นตั๋วเดินทาง

อัตราค่าธรรมเนียมในการรับฝาก (หีบห่อหนึ่งถ้ามีน้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม)

น้ำหนักหีบห่อ ค่าธรรมเนียมต่อวัน (บาท)
1. ไม่เกิน 20 กก. 40 บาท
2. เกิน 20 กก. แต่ไม่เกิน 40 กก. 80 บาท
3. เกิน 40 กก. 150 บาท
หมายเหตุ : เศษของวันให้นับเป็น 1 วัน

นำของเข้า ชั่วคราว เอ.ที.เอ คาร์เนท์
ผู้โดยสารที่มีความประสงค์จะนำเข้าของเป็นการชั่วคราว เพื่อ เป็นตัวอย่างสินค้า และวัตถุในการโฆษณา แสดงนิทรรศการ งานแสดงสินค้า งานประชุม ใช้ในวิชาชีพ หรือเพื่อ วัตถุประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ และ จะส่งกลับออกไปโดยใช้เอกสารค้ำประกัน เอ. ที. เอ. คาร์เนท์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประจำ ช่องตรวจสีแดงและผ่านพิธีการศุลกากร ณ ที่ทำการศุลกากรขาเข้า ส่วนบริการผู้โดยสาร
ในวันเดินทางออกนอกราชอาณาจักรผู้โดยสารจะต้องยื่นเอกสารค้ำประกัน เอ ที เอ คาร์เนท์ และนำของดังกล่าวแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรขาออก เพื่อตรวจสอบ มิฉะนั้นจะถือว่าของมิได้ส่งกลับออกไปและจะถูกเรียกเก็บภาษีอากรในภายหลัง
สำหรับผู้นำของออกจากราชอาณาจักรชั่วคราวและในภายหลังจะนำกลับเข้ามาในราชอาณาจักรโดยใช้เอกสารค้ำประกัน เอ ที เอ คาร์เนท์จะต้องปฏิบัติพิธีการศุลกากรในทำนองเดียวกัน

การนำเงินตราเข้า-ออกประเทศ
ผู้โดยสารสามารถนำเงินตราไทย-เงินตราต่างประเทศหรือปัจจัยการชำระเงินตราต่างประเทศเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักรไทยได้ตามมูลค่าที่กฎหมายกำหนด โดยไม่ต้องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนี้

เงินไทย ผู้โดยสารสามารถนำติดตัวเดินทางไปต่างประเทศได้ คนละไม่เกิน 50,000 บาท ยกเว้นนำออกไปยังประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย เช่น พม่า สปป ลาว เขมร มาเลเซียและเวียดนาม นำออกได้คนละไม่เกิน 500,000 บาท ในกรณี การนำเข้า ผู้โดยสารสามารถนำเงินตราไทยนำเข้าได้ไม่จำกัดมูลค่า หากผู้โดยสารต้องการนำเงินตราไทยออกนอกราชอาณาจักรมูลค่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ต้องขออนุญาตธนาคารแห่งประเทศไทย และ นำหลักฐานการได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธต.5) มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ท่าอากาศยานระหว่างประเทศในขณะเดินทางออกนอกประเทศ

เงินตราต่างประเทศ บุคคลใดๆที่นำเงินตราต่างประเทศที่เป็นธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ออกไปนอกหรือเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีมูลค่ารวมกันเกินกว่า 20,000 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า ต้องสำแดงรายการเงินตราต่างประเทศนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ ขณะผ่านด่านศุลกากร หากไม่สำแดงหรือสำแดงรายการไม่ถูกต้องมีความผิดทางอาญา

ที่มา เว็บศุลกากร
เซ่เว่น ซีส์ ส่งของกลับไทย