บทเรียนจาก “เอ๋-พัชรา แวงวรรณ” โศกนาฏกรรมคนไทยในต่างแดน

ในที่สุด ผลการชันสูตรพลิกศพก็ยืนยันออกมาชัดเจนแล้วว่า “เอ๋-พัชรา แวงวรรณ” อดีตนักร้องสาวน้ำเสียงแหบเสน่ห์แห่งวง “โอเวชั่น” จบชีวิตลงด้วยการ “ฆ่าตัวตาย” ด้วยวิธีแขวนคอกับขื่อโรงรถของบ้านพัก เมืองริเวอร์ไซด์ ลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา

การสูญเสียในครั้งนี้นอกจากจะเป็นโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นชีวิตคนไทยในต่างแดนว่าไม่ได้มีแค่มุมสนุกสนาน สวยงาม และน่าอิจฉาอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่อีกด้าน กลับเต็มไปด้วยความเหงาและความเครียดสะสม จนอาจเป็นเหตุให้คิดสั้นกันได้ง่ายๆ โดยเฉพาะรายที่ต้องต่อสู้เพียงลำพัง

เห็นทีว่า “นักขุดทอง” ที่หวังจะไปโกยทรัพย์-เก็บประสบการณ์ในต่างประเทศ ต้องคิดทบทวนกันให้ดีๆ อีกหลายๆ รอบ ก่อนตัดสินใจตีตั๋วข้ามน้ำข้ามทะเลไปเสียแล้ว




เมืองนอก... แหล่งสะสมความเครียด
ถึงแม้ว่าทางครอบครัวจะไม่เชื่อหูว่าลูกสาว “ผดุงศรี แวงวรรณ” หรือที่แฟนเพลงรู้จักในนาม “เอ๋-พัชรา แวงวรรณ” นั้นเสียชีวิตด้วยการคิดสั้น คาดว่าน่าจะเป็นการฆาตกรรมอำพรางเสียมากกว่า แต่เมื่อผลการชันสูตรพลิกศพครั้งที่สองแสดงผลออกมาว่าเป็นการฆ่าตัวตายและมีหลักฐานยืนยันแน่ชัดพร้อมให้เดินทางไปพิสูจน์ ความสงสัยเรื่องเดิมจึงหมดไป กลายเป็นคำถามข้อใหม่เกิดขึ้นในใจว่า เหตุใดคนที่บุคคลรอบข้างยืนยันเป็นเสียงเดียวว่าเข้มแข็งจึงตัดสินใจจบชีวิตลงด้วยวิธีเช่นนี้?


"ปกติผมมีลูกชาย 3 คน ลูกสาวคนเล็ก 1 คน คือเอ๋-พัชรา ตอนที่สูญเสียพี่ชายทั้งสองคนไปจากอุบัติเหตุ ก่อนหน้านั้น เอ๋ก็เป็นคนที่ตั้งสติและปลอบโยนทุกคน จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่เขาจะเป็นคนคิดสั้นถึงกับแก้ปัญหาอะไรไม่ได้และจะมาคิดฆ่าตัวตายแบบนี้ เพราะถ้ามีปัญหาอะไรก็ต้องเล่าให้ฟัง แต่เท่าที่ติดต่อกันมาตลอด เขาไม่เคยบอกเลยว่าชีวิตมีปัญหาอะไร มีแต่บอกว่าทุกอย่างราบรื่นดี” โกศล แวงวรรณ ผู้เป็นพ่อ เผยความรู้สึกด้วยน้ำเสียงประหลาดใจ แทบไม่เชื่อว่าข้อมูลล่าสุดที่ได้รับคือความจริง
เนื่องจากลูกสาวเพิ่งโทร.มาขอให้ญาติๆ ส่งหลักฐานเกี่ยวกับการศึกษาไปให้ เพื่อดำเนินการเรื่องเรียนต่อพยาบาลที่ดร็อปไว้ให้จบ และมักจะยืนยันซ้ำๆ ทุกครั้งที่ติดต่อมาด้วยคำพูดที่ว่า “จะเรียนต่อให้จบ ตอนนี้ได้สัญชาติอเมริกันแล้ว ต่อไปจะพาครอบครัวไปอยู่ด้วย จะไม่ต้องลำบากกันอีกแล้ว”

แต่เมื่อพิจารณาจากคำให้การของ “โซล มิเรอร์” อเมริกันผิวสีวัย 80 ปี ผู้เป็นเจ้าของบ้านที่เอ๋พักอาศัยอยู่ประจำเมืองริเวอร์ไซด์แล้ว อาจเป็นไปได้ว่าผู้ตายตัดสินใจลาโลกเพราะทนแบกรับภาระอันหนักอึ้งต่อไปอีกไม่ไหวแล้ว จากเดิมต้องเป็นเสาหลักของครอบครัว รับสอนหนังสือและดูแลคนชราในอเมริกา และส่งเงินให้ครอบครัวใช้เดือนละ 2-3 หมื่นบาทอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี แต่ระยะหลังๆ มานี้เธอตกงานที่ทำอยู่ทั้ง 3 แห่ง ทั้งยังต้องพักการเรียนวิชาพยาบาลเอาไว้ชั่วคราวด้วย



ชีวิตแสนลำเค็ญของ “เด็กนอก”
อย่างไรก็ตาม การสูญเสียในครั้งนี้คงไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าแท้จริงแล้ว เสี้ยววินาทีที่เอ๋-พัชรา ปลิดชีพตัวเองนั้น เธอมีความคิด-ความเครียดเรื่องใดวนเวียนอยู่ในหัวกันแน่ แต่อย่างน้อย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ช่วยสะท้อนค่านิยมที่มีมายาวนานในสังคมไทยเกี่ยวกับ “การโกอินเตอร์เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า” บางคนอาจจะไปเพื่อสานต่อความฝันของตัวเอง บางคนไปเพราะเป็นความหวังของครอบครัว และนี่ก็คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนเอาไว้ในเว็บบอร์ด ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่มีคนมอบคะแนนถูกใจ-แสดงความเห็นด้วยจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว


“เพื่อนพี่สาว (ลูกป้า) ไปเป็นผู้ช่วยกุ๊กร้านอาหารไทยที่ยุโรป แกส่งเงินมาให้แม่ใช้หนี้ทุกเดือน เดือนละ 2-3 หมื่น จนใช้หนี้หมดครบแสน พอหมดหนี้ก็ส่งเงินให้แม่ซื้อที่ แต่แม่เอาไปเล่นหวยเล่นไพ่หมดจนเป็นหนี้ใหม่อีก 2 แสนกว่า พี่แกก็ไม่รู้ ต่อมาพี่คนนี้เขาพบรักกับแฟนฝรั่ง ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เป็นข้าราชการ แต่แม่ก็ไปคุยโม้ว่าลูกรวยได้สามีฝรั่ง กระหน่ำเล่นหวย ชวนเพื่อนมากินเหล้าเมาทุกวัน พี่แกอยู่ที่นู่นก็ทำงานช่วยกันกับสามี กะว่าเกษียณแล้วจะมาอยู่เมืองไทย พอวันหนึ่งพี่แกกลับมาเยี่ยมบ้าน พอรู้เรื่องเข้า ร้องไห้โฮเลย บอกแม่หนูไม่ได้รวยนะ หนูทำงานหนักมาก แฟนหนูก็ไม่ได้รวยอะไร หนูส่งเงินมาแม่เอาไปไหนหมด


ตอนหลังพี่คนนี้ใช้หนี้เสร็จแกก็บินกลับไปแล้วไม่กลับมาอีกเลยหลายปี แต่ยังส่งเงินมาให้แม่เดือนละหมื่น นอกนั้นก็เก็บเงินปลูกบ้านที่ไทยทีละนิด แล้วก็บินกลับมาซื้อที่ด้วยตัวเอง ไม่ยอมให้เงินผ่านมือแม่แล้ว แม่แกก็เที่ยวด่าลูกประจาณลูกว่าทิ้งขว้างแม่ แต่คนอื่นไม่รู้หรอกว่าที่แกด่าก็เพราะลูกไม่ส่งเงินให้ผลาญแล้ว ผมเห็นมาหลายคนแล้วคนที่ไปอยู่เมืองนอกแล้วส่งเงินกลับบ้าน เวลากลับบ้านก็ทำเป็นร่าเริง สนุกสนาน ไม่มีปัญหาอะไร ทั้งๆ ที่ความจริงอยู่ที่นู่น ทำงานหนักมาก เหนื่อยแทบตาย แต่เวลาโทร.กลับบ้านก็หลอกแม่ตลอดว่าสบายดี ชีวิตโอเค เรื่องอย่างนี้ คนไทยหลายคนก็รู้อยู่ว่ามันมีอยู่จริงๆ เยอะมาก นี่แค่ยกตัวอย่างคนที่รู้จักเท่านั้นเอง”


ฐาปนี แสงศรี คืออีกหนึ่งตัวอย่างของคนไทยที่เคยเหยียบบนผืนดินประเทศมหาอำนาจ ตั้งใจจะไปโกยเงิน-เก็บประสบการณ์ในต่างแดนช่วงปิดเทอมมหาวิทยาลัย แต่กลับกลายเป็นฝันร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ถึงแม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ตระหนักได้ว่า ชีวิตอีกฝั่งหนึ่งของโลกในฐานะคนต่างแดน ไม่ได้สวยหรูและสนุกอย่างที่เคยคิดไว้แม้แต่นิดเดียว


“ตอนแรกที่เลือก กรอกไปว่าอยากทำงานในรีสอร์ตค่ะ เพราะคิดว่าน่าจะสนุกดี แถมเขาระบุว่ามีตำแหน่งงานที่หลากหลายซึ่งต้องไปสัมภาษณ์ที่นู่น ก็เลยตกลงไป ปรากฏว่าไปถึงเลือกอะไรไม่ได้เลย เขาก็จัดให้เราไปเป็นแม่บ้านคอยดูแลทำความสะอาดเลย ซึ่งเป็นงานที่หนักมากและต้องอยู่กับสารเคมีเยอะมาก แต่เราก็ทำไปเพราะไม่คิดว่าจะเป็นอะไร สักพักเพื่อนคนไทยเริ่มป่วย หลังจากนั้นเราก็เริ่มแสบมือ ปวดมือมาก ขึ้นผื่นแดงแพ้ไปหมดเลย มารู้ทีหลังว่าเป็นเพราะน้ำยาที่เขาให้เราใช้ ก็เลยขอเปลี่ยนไปทำตำแหน่งอื่น เป็นเด็กเสิร์ฟ เป็นคนดูแลสระว่ายน้ำ อะไรก็ได้ แต่เขาไม่ให้ บอกว่าตำแหน่งไหนก็ต้องโดนน้ำยาเหมือนกัน ซึ่งมันไม่จริงเลย


ถามว่าขอถุงมือได้ไหม เขาก็ไม่ให้ ถามว่าจะไปหาหมอที่ไหน เขาก็ไม่สนใจ ก็เลยคิดว่ามันไม่มีเหตุผลที่ต้องมาทำในที่ที่ไม่ใส่ใจเรื่องสุขภาพของเราขนาดนี้แล้วล่ะ ถ้าทนทำต่อไปอีกจนครบสามเดือน กลับไทยคงได้ตัดมือทิ้งแน่ๆ เราเลยตัดสินใจพาเพื่อนออกมาจากที่นั่น หางานเองไปเรื่อย โชคดีที่ได้เจอคนไทยใจดีช่วยหางานให้ ทำให้อยู่ที่อเมริกาต่อได้จนครบกำหนดวีซ่า ไม่ต้องกลับเมืองไทยก่อนกำหนดให้ขาดทุน
ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้รู้เลยว่าจะไปทำงานบ้านเขา เราต้องมีไหวพริบ ต้องเอาตัวรอด ช่วยเหลือตัวเองให้ได้ ถ้าเป็นคนอื่นที่มาเจออย่างเรา อาจจะไปหาหมอ ทายารักษามือ แล้วก็ยอมก้มหน้าทำงานตามที่เขาบอกไป แต่เราก็มั่นใจว่าเราเป็นนักศึกษาไทย ไม่ใช่กลุ่มคนสิ้นไร้ไม้ตอก ต้องไปเป็นวัวเป็นควายให้ฝรั่งเอาเปรียบค่ะ”

ความคิดเห็นที่ 1
ถ้ายังทำตัวเป็น “คนไทย” ก็ไร้ค่า

“เดี๋ยวนี้มีทั้งโปรแกรม Work and Travel และ Work and Study เยอะแยะจนผมก็งงไปหมดแล้ว แต่โดยรวม ค่านิยมในการตัดสินใจไปต่างประเทศของคนไทยส่วนใหญ่ อันดับหนึ่งเลยคืออยากได้ภาษา อันดับสองคือคนเบื่อชีวิตในเมืองไทยครับ เซ็งๆ อยู่ ไหนลองไปใช้ชีวิตที่เมืองนอกหน่อยซิว่ามันจะเป็นยังไง ถือว่าได้เรียนภาษาไปด้วย แล้วก็ได้ทำงานเก็บตังค์ไปด้วย ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

แต่จากที่ผมเคยเห็นมาตั้งแต่เรียนอยู่ที่นู่นและกลับมาเมืองไทย คนไทยในเมืองนอกจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มแรก คนที่อยากได้ภาษาจริงๆ ก็เลยเอาตัวเองเข้าไปในสภาวะแวดล้อมของภาษา กับอีกกลุ่มหนึ่ง คนที่ไปอยู่เป็นปีๆ แล้วยังไม่ได้ภาษาเลยก็มี ซึ่งมีเยอะมาก ทั้งๆ ที่มีทั้งภาษาและฝรั่งอยู่ตรงหน้าเขาเต็มไปหมด แต่ถ้าเขาไม่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง มันก็จบ” คริส ไรท์ หรือคนทั่วไปรู้จักในนาม “คริส ดีลิเวอรี่” ครูสอนภาษาอังกฤษแนวสาระปนฮา วิเคราะห์ให้ฟังจากประสบการณ์


คนไทยจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า แค่ได้พาตัวเองไปซึมซับภาษาอังกฤษจากต้นตำรับก็จะพัฒนาขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจารย์คริสก็ยอมรับว่าเป็นความจริง เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือวิธีเรียนภาษาที่ได้ผลมากที่สุด แต่สุดท้ายถ้ายังทำตัวเป็นคนไทย มีไลฟ์สไตล์ไม่แตกต่างจากตอนอยู่เมืองไทย แค่ย้ายที่จาก “คนไทยในเมืองไทย” ไปเป็น “คนไทยในเมืองนอก” ถึงจะข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลจากเดิมแค่ไหน สุดท้ายก็ไม่มีประโยชน์อยู่ดี


“ผมเดินทางไปทำทอล์กโชว์ ไปสอนภาษามาหลายที่ ไปเจอเด็กตามต่างจังหวัด บางคนพูดภาษาอังกฤษเก่งกว่าคนไปอยู่เมืองนอกมาหลายปีด้วยซ้ำ กรุงเทพฯ ก็ไม่เคยมา เพราะเขามีความมุ่งมั่น ขยันฝึกฝน แต่คนไทยหลายคน ไปเรียนภาษาที่สถาบันถึงที่นู่นก็จริง สุดท้ายพอไปถึงก็พาตัวเองไปอยู่ใน Comfort Zone โซนสะดวกสบายสำหรับคนไทยในเมืองนอก คบแต่กับเพื่อนไทย ทำงานร้านอาหารไทย อยู่บ้านพักกับคนไทย แทนที่เวลาว่างจะเอาเวลามากดดันตัวเองให้ฝึกภาษา ดูข่าวดูซีรีส์ฝรั่ง ก็ดันมาดูละครไทยย้อนหลังผ่านยูทิวบ์ เล่นเฟซบุ๊กก็แชตแต่ภาษาไทยกับเพื่อนคนไทยอีก แล้วมันจะได้ภาษาได้ยังไง


ผมเคยไปเข้าห้องน้ำในแชร์เฮาส์ของนักเรียนไทย เห็นเลยว่าทุกบ้านจะมีนิตยสารและการ์ตูนไทยอยู่ในนั้น แทนที่จะเป็นแมกกาซีนฝรั่ง ถ้าเป็นแบบนี้ ต่อให้ไปประเทศอะไร แต่ถ้าคุณไม่เปลี่ยนความคิด มุมมอง วิถีชีวิตของตัวเอง มันก็ไม่ได้ผลหรอก การฝึกภาษาอังกฤษให้สำเร็จ คุณต้องมีพลังงาน 3 อย่างนี้อย่างแรงกล้าในตัวคือ 1. Thrill ความกระตือรือร้นอยากเรียนรู้มัน 2. Will ความมุ่งมั่นว่า “จะ” ทำไปเรื่อยๆ ไม่หยุดจนกว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลง และข้อ 3.Drill หมายถึงการเจาะ การฝึกปฏิบัติ

นี่คือเหตุผลที่คนไทยส่วนหนึ่งพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เพราะเรียนมาแล้วไม่ได้ใช้ เราชอบคิดว่าจะได้ใช้ภาษาอังกฤษก็ต่อเมื่อมีฝรั่งมาคุยด้วย, เวลาไปต่างประเทศ, เอาไปใช้เรียนหรือสอบ แล้วก็ใช้ในเวลางานแค่นั้น แต่หารู้ไม่ว่าเหตุการณ์ทั้ง 4 นี้มันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกฝนก่อนลงสนามจริงครับ แต่ถ้าไปลงสนามถึงเมืองนอกเมืองนาแล้ว แต่ไม่มี 3 พลังงานนี้อยู่ในตัวเลย สุดท้ายภาษาอังกฤษคุณก็จะย่ำอยู่กับที่เหมือนเดิมนั่นแหละ”




โกยเงินต่างแดน ไม่รุ่งแต่ร่วง

ส่วนคนที่หวังจะไป “ขุดทอง” ในต่างแดนนั้น มน-ชุติมน วิจิตรทฤษฎี สมาชิกวง Room39 ผู้เคยตกระกำลำบากในอเมริกา ทำงานหามรุ่งหามค่ำแลกเงินที่นั่นมาก่อน ขอเตือนเอาไว้ว่าให้เลิกหวังไปได้เลยเพราะ

“ค่าตอบแทนเขาสูงก็จริง เพราะค่าเงินเขาสูงค่ะ แต่ค่าครองชีพก็สูงมากเหมือนกัน ตอนที่ไปก็เป็นทั้งเด็กเสิร์ฟ แล้วก็ร้องเพลงในร้านอาหารตั้งแต่ 3 ทุ่มถึงตี 2 สลับกับขายของกิฟต์ชอปที่ฮอลลีวูด รายได้คิดเป็นเงินไทยก็ตกประมาณสามหมื่นบาทต่อเดือน ดูเหมือนเยอะเนอะ แต่จริงๆ ไม่เยอะหรอกค่ะ แค่จ่ายค่าบ้านเช่าก็แทบจะไม่เหลือแล้ว แถมตอนนั้นเศรษฐกิจบ้านเขาไม่ดีด้วย ต้องแย่งงานกัน เขาก็กันที่ไว้ให้คนของเขาก่อน จากที่ตั้งใจไว้ว่าจะทำงานเก็บเงินไว้เรียนต่อโทที่นั่น แต่ทำมา 3 ปีก็ยังเก็บตังค์เรียนไม่ได้เลย ตอนนั้นกะจะกลับไทยแล้ว โชคดีที่มาดังจากการเล่นดนตรีกับเพื่อนๆ วง Room39 ในยูทิวบ์เสียก่อน


เพราะงั้น ถ้าใครจะไปเพราะอยากมีเงินเยอะๆ ไปแล้วหวังรวย ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วมันทำไม่ได้หรอกค่ะ อย่าไปคาดหวังเรื่องนี้เลย ถ้าจะไปต่างประเทศ อยากให้ไปเพราะอยากเรียนรู้ อยากเก็บประสบการณ์ใหม่ๆ ที่หาในไทยไม่ได้ดีกว่า เพราะคนที่จะโกยเงินได้เป็นกอบเป็นกำในต่างประเทศขนาดนั้น ต้องเป็น Specialist ด้านใดด้านหนึ่งไปเลย ต้องทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้ เขาถึงจะยอมทุ่มเงินจ่าย

แต่จะทำอย่างนั้นได้ คุณต้องมีใบ Social Work Permit อนุญาตให้ทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมายที่นั่น หรือไม่งั้นก็ต้องเป็นคนเก่งจริงๆ จนเจ้านายรัก ยอมขอ Green Card ให้ ก็จะได้สิทธิเท่ากับคนที่นู่นเลยค่ะ แต่มันก็ยากมาก ตั้งแต่อยู่มาก็ไม่เห็นว่ามีใครทำได้เท่าไหร่ เพราะภาษาเราก็อ่อนกว่าเจ้าของภาษาอยู่แล้ว หรือถ้าจะเน้นเก็บเงินให้ได้เยอะๆ จริงๆ ก็ต้องทำงานอย่างเดียวแล้วไม่สุงสิงกับใครเลย ก็อาจจะได้ค่ะ”


แต่สำหรับนักร้องสาวเสียงสวยคนนี้แล้ว ทรัพย์สินใดๆ ยังไม่สำคัญเท่ากับประสบการณ์ที่เธอได้รับกลับมา จากเคยสับสนในเส้นทางฝันจนต้องลาออกจากตำแหน่งเซลบริษัทซูมิโตโม ประเทศญี่ปุ่น จนมาค้นพบตัวเองในสหรัฐอเมริกาโดยไม่ได้คาดหวังเอาไว้แม้แต่นิดเดียว

“มันทำให้เรากล้าร้องเพลงต่อหน้าคนอื่น ทั้งๆ ที่ตอนอยู่ไทยไม่เคยกล้าทำ ได้เจอเพื่อนๆ กลุ่มใหม่ ทำอะไรที่ไม่เคยทำ เปิดโลกใหม่ๆ ที่สำคัญทำให้รู้ตัวว่าเรารักอะไรและอยากจะทำอะไร แค่ได้ลองเปลี่ยนสถานที่ พบเจอผู้คน และได้ค้นพบตัวเอง แค่นี้ก็คุ้มแล้วค่ะ ไม่จำเป็นต้องตีเรื่องความคุ้มเป็นจำนวนเงินเลย”

ที่มา :

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000126968


ตอบกลับความเห็นที่ 1
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 2
ใชค่ะ ชีวิตที่เมืองนอกไม่ได้สวยหรู ตรงข้าม ลำบากเรือหายจริงๆ


ตอบกลับความเห็นที่ 2
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 3
ดูข่าวเศรษฐกิจ อเมริกันชนเองยังมีคนว่างงานเพิ่มขึ้น

จึงไม่เแปลกใจ ถ้าเ้ค้าจะกีดกันงานสำหรับคนเอเชีย


ตอบกลับความเห็นที่ 3
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 4
อเมริกา ไม่ได้มีแต่มะกันและคนเอเซีย เขาจึงไม่กีดกัน ถ้าเรามีความสามารถ
เรื่องจะสวยหรูหรือจะลำบาก ก็แตกต่างกันไป แล้วแต่ละบุคคลนะ
May you rest in paradise…ผดุงศรี แวงวรรณ
http://blog.nationmultimedia.com/ranchhand/2012/10/17/entry-1


http://www.youtube.com/v/RKCIe18cYms
ตอบกลับความเห็นที่ 4
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 5
ถ้าขยันและฉลาดพออยู่ที่ไหนก็รวยได้ ไม่จำเป็นต้องไปอยู่นอกหรอก อยู่ที่ไหนจะสุขใจเท่าที่บ้าน


ตอบกลับความเห็นที่ 5
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 6
เขาตายไปแล้ว หากว่าเราไม่ใช่ญาติโยมของเขา จะไปคุยถึงเขาทำไมครับ

หากว่าผมตายไปเช่นกัน ใครเอาออกมาคุ้ย ผมจะมาหลอกให้ผมล่วงแน่ๆ


ตอบกลับความเห็นที่ 6
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 7
ทุกอย่างจบแล้ว
ไม่น่าหยิบยกเอาเธอ มาเป็นประเด็นอะไรอีก


ตอบกลับความเห็นที่ 7
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 8
"แต่สุดท้ายถ้ายังทำตัวเป็นคนไทย มีไลฟ์สไตล์ไม่แตกต่างจากตอนอยู่เมืองไทย แค่ย้ายที่จาก “คนไทยในเมืองไทย” ไปเป็น “คนไทยในเมืองนอก” ถึงจะข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลจากเดิมแค่ไหน สุดท้ายก็ไม่มีประโยชน์อยู่ดี"

ชอบประโยคนี้มากๆๆๆๆๆ เลยค่ะ หลายครั้งที่เจอคนไทยประเภทนี้ (แต่ในแง่อื่นๆ)ในต่างแดน ก็ยังสงสัยอยู่เลย
ว่าคงซื้อน้ำหนักการเดินทางเพิ่ม ถึงได้หอบหิ้ว โหลดเอานิสัยแบบนั้นขึ้นเครื่องมาด้วย..
(ปล. ล่าสุดเรานั่งรถกลับบ้านกลางคืน ผ่านย่านโซโห ในลอนดอน ตกใจคิดว่าอยู่ย่านสำโรง บางนา เพราะสก๊อยกับแว้น เฮโลขึ้นมากลุ่มใหญ่ ที่สำคัญเปิดเพลงจากมือถือ เสียงดังมากมาย เพลงกำนันสไตล์ ฉบับไทยแล้วก็เสียงดังมากๆๆๆ.. เฮ้อออออ มีแต่คนหันไปมอง)


ตอบกลับความเห็นที่ 8
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 9
เดี๊ยนว่าก็เป็นอุทาหรณ์ดีนะ กำลังสงสัยอยู่เลยว่าเพราะเหตุใดเธอจึงคิดสั้น


ตอบกลับความเห็นที่ 9
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 10
มาเมืองนอก ระยะสั้น สนุก ได้เปิดหูเปิดตา

แต่มาอยู่เมืองนอกนานๆ อยู่ระยะยาว ยาก
เพราะมีทั้งปัญหาเรื่องงาน เรื่องภาษา สังคม ฯลฯ


ตอบกลับความเห็นที่ 10
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 11
เราสนใจตามข่าวอยู่ค่ะ เพราะเป็นแฟนเพลงเมื่อสมัยยังเด็ก เธอเป็นคนมีชื่อเสียงนะคะถึงแม้จะไม่มีผลงานมากว่า 20 ปี
แต่แฟนเพลงรุ่นเก่าๆเยอะ พอได้ข่าวก็ช๊อคไปตามๆกัน ขอแสดงความเสียใจกับครอครัวเธอด้วย..

ส่วนเรื่องมาอยู่เมืองนอกแล้วลำบากลำบน มันก็แล้วแต่คนว่าใครไปประสบพบเจออะไรมาบ้าง
มันก็มีทั้งดีและไม่ดี แต่ถ้ามีโอกาสใครๆก็อยากมาทั้งนั้นแหละ
ถ้ามันแย่มากนักทำไมยังมีคนไปต่อคิวขอวีซ่าเพื่อที่จะได้มาตปท.กันทุกวี่ทุกวัน แถวยาวเหยียด....


ตอบกลับความเห็นที่ 11
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 12
อ่านข่าวนี้ทีไรหดหู่ใจค่ะ เธอหลับสบายแล้วค่ะ
เป็นนักร้องที่เคยชื่นชอบคนหนึ่ง ขอให้เธอหลับให้สบาย เหนื่อยนักก็พักไปเลย


ตอบกลับความเห็นที่ 12
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 13
ได้ยินข่าวตั้งแต่แรก เพิ่งมาสรุปได้จากข่าวนี่เอง

ชีวิตคนนึงก็เป็นอุทาหรณ์สำหรับคนรุ่นต่อไป ส่วนเรื่องจะคิดยังไงกับคนที่ตายไปแล้ว อยู่ที่แง่มุมที่คิด ไม่คิดว่าจะเป็นการล่วงเกินต่อผู้ตาย ที่ดิฉันอ่านเห็นว่าเธอเป็นคนที่กตัญญูมากคนนึง ไม่เคยทราบเลยว่าเธอมาอยู่อเมริกา แต่ก่อนดิฉันก็เคยคิดนะว่ามาอยู่ตัวคนเดียวที่ต่างประเทศเนี่ย เกิดวันนึงตายไปในบ้าน จะนานเท่าไรกว่าคนจะมาพบศพ เพื่อนที่ทำงานไม่มีสักคนที่รู้จักบ้านเลย มีเพื่อนคนไทยอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้คุยทุกวัน ไม่มีญาติด้วย มันน่าเศร้านะเนี่ย

แต่นั่นมันก็ไม่ใช่ทั้งหมด ส่วนดีๆของการอยู่ต่างประเทศมันก็มี ถ้าชั่งแล้วน้ำหนักฝั่งไหนมากกว่าก็ไปทางนั้น ไม่อย่างนั้นจะมีคนดิ้นรนมาอยู่ต่างประเทศกันหรือ แต่เห็นจริงอย่างที่ว่า ตอนที่ลำบากที่นี่ไม่ปริปาก คนที่ไทยก็นึกว่าอยู่สุขสบายดี ทีไหนได้ทำงานตัวเป็นเกลียว ลำบากแสนเข็ญ


ตอบกลับความเห็นที่ 13
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 14
พูดไม่ออก


ตอบกลับความเห็นที่ 14
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 15
เธอตายเพราะเธอเป็นคนดีเกินไป อดทนเพื่อคนอื่นมากไป

มีที่ไหนส่งเงินกลับบ้านเดือนละสองสามหมื่นตลอดยี่สิบปี

ดิฉันเรียนจบไม่รู้กี่ปริญญาพูดได้ไม่รู้กี่ภาษาก็ไม่มีปัญญาหาเงินให้พ่อแม่ได้มากแบบเธอ

ขอให้คุณงามความดีที่คุณพัชรา แวงวรรณทำไว้ในชาตินี้ภพนี้เป็นอานิสงส์ทำให้เธอได้ไปเกิดในภพชาติใหม่ที่สมบูรณ์มั่งคั่งแวดล้อมไปด้วยคนดีๆแบบเธอ


ตอบกลับความเห็นที่ 15
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 16
มีเพื่อนแบบนี้เหมือนกัน ทำงานใช้หนี้ให้ครอบครัวตลอด เคยบ่นๆให้ฟัง แล้วก็ร้องไห้


ตอบกลับความเห็นที่ 16
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 17
พวกบริษัท work & travel ที่ส่งคนไป แล้วไม่ดูแล หรือไม่เป็นไปอย่างที่คุยไว้ ใครเข้าร่วมโครงการแล้วเจอแบบนี้ อยากให้กลับมาแจ้ง สคบ ค่ะ ไม่ควรปล่อยไว้ให้หลอกลวงเด็กๆรุ่นต่อๆไปอีก เพราะเข้าใจเลยค่ะ ไปลำบากต่างบ้าน ไกลเมือง มันยากและเหนื่อยแค่ไหน


ตอบกลับความเห็นที่ 17
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 18
เข้าใจคะ


ตอบกลับความเห็นที่ 18
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 19
คนไทยส่วนใหญ่ที่อยู่ทางเมืองไทยและมีญาติ ลุกหลานอยู่ต่างแดน มักจะคิดว่าการอยู่ต่างแดนมีรายได้มาก แต่ไม่ได้คิดกันหรอกว่า รายได้มากก็จริง แต่ค่าครองชีพก็แพงตามติดมาด้วย ลูกหลานก็เลยจำเป็นจะต้องส่งตังให้ทางบ้าน สำหรับพ่อแม่คาดว่าไม่เป็นไรเพราะเลี้ยงดูพ่อแม่ แต่เห็นบางคนน่ะ ไม่ใช่แต่พ่อแม่เท่านั้นนะ ทั้งพี่ป้าน้าอาน้องลูกของพี่ลูกของน้อง ทุกคนขอโน่นขอนี่อยากได้โน่นอยากได้นี่กันหมด มารุมขอกับคนๆเดียวที่อยู่ต่างแดน หาเงินอยู่คนเดียว ไหนกับครอบครัวเจ้าตัวอีกนะที่จะต้องกินต้องใช้ต้องจ่าย ไหนจะเมืองไทย ส่งลูกพี่หรือลูกน้องเรียนหนังสืออีก ดิฉันว่าไม่ยุติธรรมนัก ที่เอ่ยมานี่ไม่ใช่เห็นแก่ตัวนะคะ ถ้าลองคิดกันให้ดีๆๆ คนขอต่างหากที่เห็นแก่ตัวน่ะ ในเมื่อมีลูกก็น่าจะหาเลี้ยงลูกตัวเองก่อน ถ้าไม่พร้อมก็อย่าไปมีลูกแล้วโยนภาระให้คนอื่น (ถ้าส่งให้พ่อแม่ตัวเองแค่นั้นน่ะเป็นข้อยกเว้นนะคะ.............ที่เอ่ยมานี้น่ะ) ดิฉันเคยได้ยินน้องๆๆบ่นกันมาว่าคนโน้นขอโน่นคนนี้ขอนี่ ส่งหลานเรียนอีก ฯลฯ มันเป็นภาระที่หนักมากสำหรับคนที่อยู่ต่างแดนเพียงคนเดียวนะคะเนี่ย อยากให้คิดกันบ้างเท่านั้นเอง สงสารคนหาเงินกันบ้าง


ตอบกลับความเห็นที่ 19
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 20
น่าเห็นใจมากๆ อ่านแล้วไม่น่าเรยที่จะเกิดขึ้น

ชีวิตของเราได้เคยใช้ชีวิตที่ต่างประเทศถึง 2 แบบ.. เมื่อ 8 ปีก่อนใช้ชีวิตโดยการเป็นนักเรียนที่เมลเบิร์น .. และถึงทุกวันนี้อยู่แคนาดามาได้ 2 ปี เพราะย้ายตามสามีมาทำงาน เจอประสบการณ์ 2 แบบ.. สมัยเรียน อยู่อย่างสบายๆ ที่บ้าน(พ่อและแม่)ส่งเงินมาให้ใช้ ไม่เครียด ไม่ต้องดิ้นรนทำงาน ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไม่อยากกลับบ้านรู้สึกว่าเป็นอิสระ และคิดว่าเมืองนอก ดีแสนดี ทุกอย่างดี สวัสดิการให้กับคนที่นี่ดี๊ดี ความปลอดภัย ถึงจะไม่ 100% แต่ก็ยังดีกว่าบ้านเราเยอะ ช่วงนั้นทำเอาลืมไปเรยว่าเราเป็นใครมาจากไหน รู้สึกแย่มาก .. เป็นเพราะว่าไม่เคยได้ทำงานหรือหาเงินเป็นของตัวเอง ไม่เคยคิดว่าเงินมันหายากแค่ไหน ...

แต่พอถึงวันนี้ จากที่เราเคยมีหน้าที่การงานที่ดีที่บ้านเราทำ อยู่สบายๆ เงินเดือนตอนนั้นราวๆ 30,000 บาทต่อเดือน ถือว่าไม่เยอะแต่ก็พออยู่ได้ ไม่ต้องแบมือขอเงินสามี หรือทำตัวให้เป็นภาระพ่อแม่ที่บ้าน (ไม่นับรวมเงินเดือนของสามีตอนทำที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพนะคะ เพราะมันต่างกันเยอะ..อิอิ) .. แต่พอย้ายมาอยู่แคนาดา ถ้าเทียบกันแล้วเงินเดือนของเราได้เยอะกว่าตอนอยู่เมืองไทย ราวๆ 2.5 เท่าต่อเดือน แต่ความหนักแล้วมันต่างกันเยอะมาก เคยร้องไห้เพราะเหนื่อยกับที่ทำงานสองสามครั้ง แต่ตอนนี้ชินซะแล้ว .. งานที่ทำไม่ได้ทำงานตามร้านอาหารนะคะ เราทำงานในบริษัท แต่ส่วนของเนื้องานที่ทำมันไม่เหมือนกับอยู่บ้านเรานั่งหน้าคอม รับโทรศัพท์ จัดการเอกสาร .. อยู่ที่นี่มันเยอะกว่านั้น มีทั้งเจอพวกฝรั่งเอาเปรียบก็เยอะมาก ขี้เกียจก็เยอะมาก หัวหน้าที่ทำงานดูถูก ปฏิบัติตัวกับลูกจ้างคนเอเชียหรือเรียกว่า migrants ไม่เท่าเทียมกับฝรั่งแบบเขาก็มี .. เหนื่อยมากค่ะ ทุกวันนี้ บางทีก็คิดว่า เรามาทำอะไรกันที่นี่เนี่ย .. แต่เพื่ออนาคตก็จำเป็นต้องอดทนอีกหน่อย รีบๆ ทำงาน เก็บเงิน แล้วก็จะได้กลับไปอยู่บ้านเราอย่างถาวรเสียที

หลังจากที่ชีวิตเข้าสู่วัยทำงาน ทำให้เราคิดเสมอว่า อยู่ที่ไหนไม่สุุขใจเหมือนบ้านเราที่สุดแล้ว .. โม้มาเยอะเกิน สุดท้ายนี้ ขอให้คุณพัชรา แวงวรรณ ไปสู่สุคติค่ะ


ตอบกลับความเห็นที่ 20