เห็นทางฝั่งอเมริกาตั้งกระทู้เกี่ยวกับวัดไทยกัน ฝั่งอังกฤษอยากตั้งมั่งอ่ะค่ะ

เห็นด้วยกับคำที่ว่าวัดเป็นที่พึ่งทางใจนะคะ ประโยคนี้มีผลมากๆโดยเฉพาะกับคนไทยไกลบ้านอย่างพวกเราๆค่ะ ที่อังกฤษตอนนี้มีวัดไทยอยู่หลายแห่งด้วยกัน แต่พระธรรมฑูตทั้งหลายส่วนมากรู้จักกันทั่วถึงค่ะ เพราะพระทุกรูปที่จะเข้ามาที่อังกฤษนี้ต้องไปรายงานตัวต่อท่านเจ้าอาวาสที่วัดพุทธประทีปก่อน ท่านถือว่าเป็นพระผู้ใหญ่ที่ดูแลพระทั้งหมดที่อังกฤษค่ะ

ตอนแรกก็ไม่คิดว่าคำว่าวัดเป็นที่พึ่งทางใจจะมีความหมายมากมาย แต่เมื่อตนเองได้เข้าไปสัมผัสเอง โดยการบวชเป็นศีลจาริณีประจำปี ที่ทางวัดพุทธประทีปจัดขึ้นเป็นเวลา เก้าวัน ทำให้ซาบซึ้งถืงคำๆนี้จริงๆค่ะ

วันแรกมีผู้สมัครทั้งสิ้น แปดสิบสามท่าน และวันสุดท้ายเหลือศีลจาริณีเจ็ดสิบสี่ท่าน เนื่องจากว่าบางท่านติดภาระกิจต้องลาสึกไปก่อน

ช่วงตลอดเก้าวันที่อยู่รวมกันที่วัดทำให้พวกเราได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย

วันแรกเป็นวันของการเตรียมตัว ยังไม่มีอะไรเคร่งครัดนัก เป็นไปด้วยความสบายๆในความสงบ

วันที่สองตรงกับวันสำคัญทางศาสนา วันอาสาฬบูชา มีคณะจากสถาฑูตไทย นำโดย ท่านอัคราชฑูตและเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งชาวพุทธทั้งหลาย มาร่วมกันเวียนเทียนและถวายเทียนพรรษา รู้สึกปลาบปลื้มค่ะ ที่คนไทยเรายังเห็นความสำคัญของศาสนากันมากมาย

วันที่สาม มีคณะจากรัฐสภาไทย นำโดยท่านประธานรัฐสภาและสส.บางส่วน เดินทางมาดูงานที่วัด จุดนี้เองทำให้เราได้ประกายความคิดบางอย่าง เพราะพวกเรายกมือไหว้บุคคลเหล่านั้นและรับไหว้ด้วย

พระอาจารย์มาบอกพวกเราทีหลังว่า พวกเราไม่จำเป็นต้องไหว้คนกลุ่มนั้น เพราะพวกเรามีศีลที่สูงกว่าคือ ศีลแปด แต่คนพวกนั้นแค่ศีลห้าก็ไม่รู้ว่าเค้าจะถึงหรือเปล่า ดังนั้นแค่พวกเค้าไหว้เราก็พอแล้วไม่ต้องไหว้เค้า แค่ประโยคพวกนี้ มันทำให้เราคิดได้ว่าจริงๆแล้ว วัดคนเค้าวัดกันที่ความดี นานเท่าไหร่แล้วที่เราลืมในสิ่งนี้ไป ยึดติดแต่สิ่งของนอกกายและถือว่านั่นคือความสำเร็จ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่เลย ความดีและความชั่วนี่แหละที่เป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงค่าของความเป็นคน

วันที่สี่ ปฎิบัติธรรมตามปกติ

วันที่ห้า ได้ฟังเทศน์จากท่านเจ้าอาวาสแห่งวัดมหาธาตุ ซึ่งท่านเคยอยู่ที่วัดนี้มาก่อนเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว และเป็นครั้งแรกหลังจากที่ท่านกลับเมืองไทยไป ได้กลับมาที่อังกฤษอีกครั้ง ท่านเทศน์ดีมากค่ะ มีอารมณ์ขันสอดแทรกในการเทศน์

วันที่หก ถึงวันที่เจ็ด ปฎิบัติธรรมตามปกติ

วันที่แปด ช่วงกลางคืนหลังทำวัตรเสร็จ พระอาจาย์ทุกท่านร่วมตอบคำถามในทุกเรื่องที่พวกเราสงสัย โดยเราเขียนเป็นกระดาษส่งไป กว่าจะเสร็จก็ดึก แต่ประทับใจที่พระอาจาย์ทุกท่าน จริงใจในการแก้ข้อสงสัยของพวกเรา ตอบจนพวกเราได้รับความกระจ่างในทุกเรื่องทุกปัญหา ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม

วันที่เก้า วันสุดท้าย มีการถ่ายรูปทำกิจกรรมต่างๆและจากลา

การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้มีคุณค่ามากๆจริงๆค่ะ พวกเราได้เข้าร่วมขัดเกลาจิตใจ และพระอาจาย์กล่าวส่งท้ายกับพวกเราว่า ตอนนี้พวกเราพร้อมแล้วที่จะกลับไปต่อสู้ในสังคมต่อไป แต่เมื่อใดที่พวกเรารู้สึกผ่ายแพ้ให้กลับมาที่วัด แล้วเมื่อเข้มแข็งเมื่อไหร่ถึงค่อยกลับไปใหม่ (รู้สึกซาบซึ้งมากค่ะ)

ถ้ามีการใช้ถ้อยคำใดๆที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สมคควร ก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ ไม่เคยได้ตั้งกระทู้ยาวๆแบบเป็นเรื่องเป็นราวแบบนี้มาก่อนค่ะ

ความคิดเห็นที่ 1
ตอนนี้ที่วัดกำลังมีการบวช สามเณรฤดูร้อนอยู่นะคะ มีเณรประมาณ สิบกว่าองค์ค่ะ

รูปนี้เป็นรูปที่ต่อแถว เพื่อตักอาหารค่ะ อาหารมีมากมายเหลือเกิน ขอขอบคุณเจ้าภาพทุกๆท่านนะคะ บอกได้เลยว่าทุกวันรู้สึกปลามปลื้มใจกับเจ้าภาพมากๆค่ะ ทุกคนตั้งใจมาร่วมในงานบุญครั้งนี้กันจริงๆค่ะ


ตอบกลับความเห็นที่ 1
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 2
อาหารที่ทานทุกมื้อเป็นอาหารเจค่ะ และทานรวมอยู่ในภาชนะเดียว


ตอบกลับความเห็นที่ 2
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 3
บางท่านนำเต้นส์มากางเอง และอยู่ที่เต้นส์ตลอดเวลาเก้าวันค่ะ


ตอบกลับความเห็นที่ 3
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 4
นาฬิกาปลุกอันนี้ มองทีไรก็รู้สึกปลาบปลื้มใจและเผลอยิ้มไปในทุกครั้ง เนื่องจากรู้ว่า บุคคลผู้ถวายแด่พระอาจารย์คือ พระองค์เจ้าทีปังกรณ์


ตอบกลับความเห็นที่ 4
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 5
ตอนนี้มีวัดหลายแห่งในอังกฤษที่จัดกิจกรรมดีๆเพื่อคนไทยเรา ถ้าคุณใกล้ที่วัดไหน
ทดลองด้วยตัวคุณเองนะคะ แล้วคุณจะรู้ว่าคุณได้อะไรมากมายจากการไปวัดจริงๆ

รูปนี้ทางด้านหลังของพระอาจาย์ เป็นห้องเรียนที่ไว้สอนภาษาไทยให้กับเด็กรุ่นหลังค่ะ


ตอบกลับความเห็นที่ 5
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 6
สาธุ อนุโมทนา

๏ เกวียนเทียมนาค ลากเลื่อนล่อง เทียนส่องแสง
พระสวดธรรม ศีลสำแดง แจ้งวิถี
เศียรนาคชู สู่ถนน ของคนดี
ทางสายนี้ มีแต่ให้ มิใช่เอาฯ


๏ แก่นไตรลักษณ์ ประจักษ์รู้ ผู้หลุดพ้น
ละอัตตาตัวตน พ้นความเขลา
ไม่จีรัง สิ่งทั้งผอง ใช่ของเรา
ทุกข์คือเงา เร้ารุกโถม โรมชีวัน ฯ


๏ ใครฝึกได้ ให้เสียสละ ละจากบาป
อารมณ์หยาบ คราบกิเลส เหตุทุกข์มหันต์
ชำระล้าง วางละโมบ โลภพัวพัน
เดินหลงทาง อยู่อย่างนั้น ไร้วันเจริญฯ


๏ ต่อนี้ไป ให้ตั้งจิต คิดแน่วแน่
อย่ายอมแพ้ แก่ใจตน ชนสรรเสริญ
ตามรอยพุทธ พิสุทธิพงศ์ ทรงดำเนิน
คือก้าวเดิน เมินพ้นจาก อยากทั้งมวล ฯ




๏ สำรวมจิต คิดทำดี มีแต่ให้
จักส่งผล กุศลใหญ่ ไม่กำสรวล
ปัจฉิมวาที วัจน์ศรีพุทธ พึงหยุดทวน
สลัดตราตรวน ชนวนประมาท ภัยคลาดคลา ฯ



๏ กรรมนำใจ ใฝ่ทางดี วิถีสวัสดิ์
เมตตาแผ่ แก่สรรพสัตว์ พนมหัตถา
อธิษฐาน เบิกบารมี ศรีบุญญา
หมายเส้นทาง บุญข้างหน้า สุขสถาพร ฯ



๏ เดินตามผ้า กาสาวพัสตร์ ไปวัดโบสถ์
เสียงระฆัง ฟังอุโฆษ โชติชยสรณ์
ตามบาทบุญ หนุนน้อมนำ ถ้อยธรรมธร
ยกยอกร อ่อนวันทา สาธุบุญ ฯ




๏ ผู้บำรุง หมั่นหุงหา อาหารถวาย
ทั้งหญิงชาย หมายทูนเทิด ประเสริฐสุนทร์
เพื่อพระสงฆ์ ธำรงรักษ์ จักรธรรมคุณ
เกื้อการุณย์ จุนโลกไว้ ให้วรรธนา ฯ

๏ หวังผุดเป็น เช่นบุษย์งาม สีครามอ่อน
เหนือธารสินธุ์ แสงทินกร สะท้อนอุษา
อย่าให้ใคร ไหนดึงต่ำ ดำใต้ชลา
บัวบูชา รัตนามณี ทวีบุญเทอญ ฯ

Idealist USA

ขอบคุณมากค่ะ ที่ตั้งกระทู้แนวปฏิบัติธรรม
ต่อเนื่องและส่งเสริม กับภาพมุมมองจากวัดไทยฝั่งอเมริกาแปซิฟิค

ขอร่วมอนุโมทนาในการบวชชีพราหมณ์ของคุณ และการแพร่ข้อมูลดีๆค่ะ

การถือศีล ๘ วัดในอเมริกา จัดประจำปีมาหลายรุ่นแล้ว ในช่วงธันวาคม
แต่มีห้องพักให้ผู้ปฏิบัติธรรม เพิ่งมาทราบในอังกฤษจัดช่วงอาสาฬหบูชา

กระทู้ที่ตั้งใจเขียนเป็นเรื่องราว ให้แนวทางศรัทธาอย่างนี้ มีคุณค่ามากค่ะ
ถือเป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน ที่ต้องช่วยเผยแพร่ และประสานธรรม

ฝากคำประพันธ์ไว้ให้เป็นการขอบคุณนะคะ





//


ตอบกลับความเห็นที่ 6
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 7
คนฝั่งขะนี้มาแจมเลยทีเดียว
การทำบุญไม่ควรคิดมาก ทำไปเลยจะได้บุญเต็มที่ ผมก็เชื่อแบบนั้น
แต่ผมมักจะมีข้อแม้เสมอ ต้องดูซ้ายดูขวาเสมอ จึงไม่ค่อยได้บุญเท่าไร
วัดไหนเลี้ยงหมาแมว หมาและแมวผอมแต่พระอ้วนนี่ผมจะคิดมากเสมอ
เมื่อวันอาทิตย์ไปร่วมบวชเณรมาสององค์ครับ


ตอบกลับความเห็นที่ 7
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 8
และอีกอย่างหนึ่ง ใครมาบอกผมว่า "ดิฉั้นเป็นคริสเตียนที่ดีและเคร่งครัดในพระเจ้า" ผมฟังแล้วมักจะเสียวๆไว้ก่อนเสมอ ทั้งๆที่คุณเธออาจจะดีจริงก็ได้
ผมทำให้กระทู้ของจขกท รกไปหรือเปล่าก็ไม่ทราบ


ตอบกลับความเห็นที่ 8
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 9
ผมก็พุทธในลักษณะคล้ายๆ คุณอิสวาสุครับ เลือกไหว้พระ เลือกเข้าวัด เวลาไปเยี่ยมแม่ที่เมกาเจอหน้าเจอตาพร้อมๆ กันในหมู่พี่น้องปีละครั้ง แม่จะชวนไปทำบุญถวายอาหาร ถวายเงิน กับวัดไทย ผมก็ไปนะเอาอคติของตนเองวางไว้ข้างๆ ก่อน พอไปเห็นพระนั่งฉันข้าวไปแล้วเปิดวีดีโอสวดมนต์ให้ญาติโยมสวดตามไป หรือปลุกเสกให้ของขลังญาติโยม ผมก็ลุกออกมาเสีย แต่ก็ไปทุกครั้ง

นึกขึ้นได้เรื่องที่คุณอิสวาสุพูดถึงเรื่อง "ดิฉันถือศาสนาคริสต์เคร่ง" ส่วนตัวผมก็ชอบเข้าไปเยี่ยมชมโบสถ์คริสต์เพราะรู้สึกสงบดี มีเพื่อนเป็นอิสลามที่เปิดใจกว้าง กินอาหารได้ทุกอย่างไม่มีข้อจำกัด เขาบอกนับถือพระเจ้าของทุกศาสนา ชวนผมเข้าเยี่ยมชมสุเหร่า ผมก็ชอบอีก

แต่เรื่องที่มีคนไทยบอกถือคริสต์เคร่งนี่เจอเข้ากับตนเองเลย ช่วง 2-3 ปีมานี้แม่ต้องมีคนดูแลช่วงกลางวันที่ลูกๆ ไปทำงานกัน หาคนทำงานผู้หญิงไทยมาได้คนหนึ่งอายุราว 40 กว่าปี แต่งงานกับอเมริกันมีลูกสาว 2 คน ตอนนี้หย่าแล้วต้องหาเลี้ยงครอบครัวคนเดียว ตอนมาสมัครก็บอกว่าเคร่งศาสนาคริสต์มาก ไปโบสถ์ทุกอาทิตย์อุทิศตนให้กับพระเจ้า

มาทำงานวันละ 4 ชั่วโมงอยู่ได้ราว 2-3 เดือนก็เกิดเรื่อง ปรากฏว่าเงินสดที่แม่เก็บไว้ในห้องนอน 1 หมื่นเหรียญหายไป ตามประสาคนแก่ที่ไม่ยอมเก็บเงินในธนาคารเพราะอยู่กันมา 40 ปีไม่เคยมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ลูกๆ บอกแล้วบอกอีกให้เอาเงินเข้าธนาคารก็ดื้อไม่เชื่อฟัง เก็บไว้แจกหลานๆ ที่หมุนเวียนกันไปเยี่ยมเยียนเป็นครั้งคราว หรือ ไว้ใช้ทำบุญเวลาไปวัด ไม่งั้นแล้วต้องบอกให้ลูกไปถอนธนาคารมาให้ทุกครั้งก็รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นอิสระ

ก็สอบถามคนดูแลว่าตอนเข้าไปเก็บกวาดในห้องนอนเห็นเงินบ้างหรือปล่าว (ถามทั้งๆที่รู้คำตอบ) เธอบอกไม่รู้ไม่เห็นแถมสาบถสาบานให้พระเจ้าลงโทษถ้าเอาเงินไปจริง วันรุ่งขึ้นก็ลาออกไปไม่โผล่มาอีกเลย

ผมก็มาเล่าเรื่องให้รกบอร์ดไปด้วยอีกคนซะละมังครับ

ตอบกลับความเห็นที่ 9
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 10
ขอบคุณทุกๆท่านที่มาร่วมกันแชร์ประสบการณ์นะคะ แต่แปลกแฮะเหมือนยังหาพวกฝั่งเดียวกันไม่เจอเลย คนที่มาเห็นมาแต่จากฝั่งอเมริกาทั้่งนั้นเลย อิอิ

คุณอิสวาสุและคุณBagheera ไม่ถือว่าเป็นการรกบอร์ดหรอกค่ะ ดีแล้วที่มีการแบ่งปันความเห็นกันค่ะ เพราะเรายังต้องพบเจอทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดีบนโลกนี้นี่คะ ศาสนาสอนให้เราฉลาดรู้จักคิดรู้จักปฎิบัติ ไม่ได้สอนให้เรางมงาย และการที่เราเลือกที่จะทำบุญในสิ่งที่จะก่อให้เกิดผลบุญนั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกแล้วนี่ค่ะ ไม่อย่างนั้นคงไม่มีการแบ่งหรอกค่ะ ว่าทำบุญแบบไหนได้บุญน้อยบุญมาก อยู่ที่ว่าการทำบุญต้องมีสติค่ะ

สำหรับคุณ Idealist USA ขอบคุณมากสำหรับบทประพันธ์ดีๆนะคะ ที่วัดจัดสถานที่ให้พักอยู่นะคะ คือพวกเราพักกันในห้องเรียนที่ไว้ใช้สอนภาษาไทยแล้วก็ใต้ถุนโบสถ์ค่ะ แต่บางท่านต้องการความเป็นส่วนตัวก็นำเต้นท์มาเองค่ะ


ตอบกลับความเห็นที่ 10
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 11
คุณ nuumama ดิฉันเขียนเรื่องสั้นสำหรับเยาวชนมาก่อน
ที่จะมาอเมริกาค่ะ เป็นแนวธรรมะ ลงในวารสารพุทธรักษาของกระทรวงฯ

ยินดีค่ะ ที่ได้รู้จักผู้ปฏิบัติธรรมด้วยใจ ในเว็บบอร์ด ถึงจะอยู่คนละทวีป
กระแสธรรมไม่มีพรมแดนอยู่แล้วค่ะ ขอบคุณอีกครั้งที่เล่ารายละเอียด

แลกเปลี่ยนอีกหน่อย การสอนภาษาไทยของวัด ช่วงสามทศวรรษ
เด็กๆจะแม่นมากในเรื่องคำศัพท์อาหารไทย และหมู่เครื่องดนตรีไทย
เพราะเป็นสิ่งที่เขาคุ้นเคยในวัด กับคำทักทายที่ได้ยินได้ฟังตลอดเวลา

ยังไม่สามารถผลักดันให้มีการสอนถึงขึ้นร้อยแก้ว กาพย์ โคลงกลอนได้

แต่อย่างน้อยโรงเรียนสอนศาสนาก็นำครอบครัวไทยเข้าวัดขยายใหญ่ขึ้น
สังคมต้องการพลังใจ และการเห็นคุณค่าของคนที่ไปร่วมกันทำงานให้วัด

ทางแคลิฟอร์เนียใต้ ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานราชการมากกว่าที่อื่น
เดือนก่อน มีการประดิษฐานพระธาตุดอยสุเทพ ที่วัดพุทธชิโนฮิลล์
ก่อนหน้านั้น หน่วยงานกงสุลขอความร่วมมือจากประชาชนและสื่อทุกสาย
กว่าจะมีการก่อการสร้างสิ่งใดได้สำเร็จ ต้องผ่านการประชุมการวางแผน
มีงบประมาณ มีการจัดสรร และรวมทั้งการแก้ปัญหาอื่นๆเกี่ยวกับท้องที่

ดิฉันมองในมุมที่เน้นประโยชน์สาธารณะ และการค้ำจุนสังคมระยะยาวค่ะ

ส่วนประเด็นอื่น ตามความต้องการเฉพาะกลุ่ม ถือเป็นเรื่องเล็กน้อยจริงๆ
คนมาวัด หลายๆทาง บางครั้งเขาเดินทางมาไกลหลายชั่วโมง คิดแบบไทย
วัดต้องมีของที่ระลึกให้ไปบ้าง เช่นมีสร้อยข้อมือผูกให้เด็กๆ นั่นคืการสอน
ให้ไหว้ ให้รับ ไม่ใช่ให้ยึดในสิ่งที่ได้ แต่เน้นว่าเป็นเครื่องระลึกว่ามาถึงวัด
ให้เขากราบบูชาพระรัตนตรัย หมั่นขยันเรียน มีน้ำใจกับเพื่อนๆ เป็นเด็กดี

แบบนี้คนเห็นที่เข้าใจเจตนาก็ชื่นชมค่ะ เพราะนั่นเป็นหลักธรรมสำเร็จผล

แต่ผู้ใหญ่ที่เผอิญพบเคราะห์ร้ายชะตากรรม กลุ่มนี้เขาต้องการพลังจิตสูง
ต้องพรมน้ำมนตร์ ต้องการอะไรที่ทำให้ใจเข้มแข็ง จะว่าไร้สาระก็ไม่ได้
คนเรา ถ้าไม่ตกที่นั่งลำบากเอง มักจะมองว่าความทุกข์ของคนอื่นน่าขำ

สำหรับวัดที่ดิฉันเล่าในกระทู้ H12448084 ประโยชน์การเข้าวัดพุทธนั้น

บางโอกาสพระท่านทำผ้ายันต์ลงคาถาอย่างดี ในเทศกาลฝังลูกนิมิต
นานมาแล้วค่ะ ต่อๆมาก็มีสร้อยลูกแก้วหลวงพ่อเจ้าพระคุณที่ภูมิธรรมสูง

ดิฉันจะไม่พลาดงานที่วัดรวมคณะพระจำนวนมากๆ ญาติโยมในต่างแดน
จะแต่งชุดไทยมาในพิธีอย่างสวยงาม มีรำไทยน่ารัก มีโขนให้พระชมด้วย

ยิ่งถ้าเป็นงานใหญ่มาก พระผู้ใหญ่เดินทางมารวมกัน ถือว่าเป็นสิริมงคล
เพราะกว่าจะก่อวัดกว่าจะบูรณะ รอเวลาซิตี้อนุมัติ กว่าจะผ่านปัญหา ๑๐๘
เราเห็นความเพียรอันสูงสุด คนทำงานขัดแย้งกันบ้าง เป็นปกติของชุมชน
แต่จุดหมายเดียวกัน ต้องการให้คนไทยมีที่พึ่ง และเด็กๆมีโอกาสรู้ภาษา
มากกว่าครึ่งของครอบครัวไทยที่ผูกพันกับสังคม เข้าใจในประเด็นนี้ดีค่ะ

การรู้จักเลือกรู้จักคิดนั้น ดิฉันเห็นด้วยค่ะ แต่เท่าที่พบมา อะไรเอียงไป
ทางด้านที่ชุมชนรับไม่ได้ ในที่สุดจะหายไปเอง สิ่งที่ใช่ถูกดี จะไม่สูญค่ะ

ไม่มีใครปฏิเสธวัดได้หรอกค่ะ ถ้าอยู่ถาวร เพราะสุดท้ายก็ต้องไปขอให้
พระมาสวดมานำทางอยู่ดี ใครรู้ก่อนแน่ได้บ้าง ว่าจะจากไปเมื่อไรที่ไหน
เดินอยู่กลางถนน มีล้มลงไม่ฟื้น ยังหาญาติไม่พบ ในที่สุดก็ต้องสมาชิกวัด

บายเดอะเวย์ กางเต็นท์เป็นส่วนตัว ที่นี่ไม่ทำ เพราะหลักคือมาปลงชีวิต
มาอยู่ร่วมกับผู้อื่น ละทิ้งสิ่งที่ยึดติดให้หมด ไม่ว่าความสบายพอใจใดๆ

ขอบคุณมากค่ะ ที่ต่อประเด็นให้ได้มีข้อมูลดีๆเพิ่มขึ้น





ตอบกลับความเห็นที่ 11
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 12
ขอบคุณนะคะ คุณIdealist USA ที่สละเวลามาร่วมสนทนากัน

ตอบคำถามก่อนเลยแล้วกันนะคะ เรื่องเต้นท์ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีของที่วัดค่ะ เพราะว่า ที่นอนมีค่อนข้างจำกัด ห้องเรียนมีน้อยค่ะ พวกเครื่องนอนก็ไม่พอเพียงถ้ามากันเยอะๆ การกางเต้นท์ไม่ได้ถือว่าสบายนะคะ เพราะว่านอนในห้องอย่างน้อยยังมีฮีตเตอร์ แต่นอนในเต้นท์ถ้าหนาวก็หนาวเลย ยิ่งถ้าฝนตกก็นอนไม่สนุกแน่ๆค่ะ แถวสัตว์ต่างๆมาแวะเวียนได้ง่ายๆอีกด้วย เช่น ทาก มด หมาป่า เป็นต้นค่ะ

ส่วนตัวไม่ถึงกับว่าเป็นคนธรรมะธรรมโมมากมายค่ะ เป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่ง สนใจเรื่องศาสนาบ้างเป็นบางครั้งบางเวลา ส่วนสามีก็เป็นคนไม่มีศาสนาค่ะ แต่ข้อดีคือเค้าไม่ห้ามเราในการนับถือศาสนาของเราค่ะ


ช่วงแรกๆก่อนที่จะมาเข้าร่วมกิจกรรมที่วัดก็คิดแบบคนทั่วๆไปค่ะ คือแค่ไปวัดเผื่อทำบุญ แต่พอได้เข้าร่วมและเรียนรู้แล้ว วัดเป็นอะไรมากกว่านั้นๆจริงๆค่ะ คนส่วนใหญ่ขาดที่พึ่งทางใจค่ะ เวลาที่มีปัญหาต่างๆเกิดขึ้น วัดกลายเป็นที่พึ่งทางใจได้อย่างมาก เห็นได้จากญาติโยมทั้งหลายสามารถเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย และสามารถเข้ารับคำปรึกษา คำแนะนำต่างๆจากพระอาจารย์หลายๆท่านได้โดยตรง

ขอเล่าอีกเรื่องหนึงนะคะ

ได้ไปช่วยงานศพของสามีเพื่อนเมื่อไม่นานมานี้ เค้าจัดแบบพุทธและคริสต์ไปพร้อมกัน เอาศพตั้งไว้ที่บ้านก่อน เลี้ยงพระทำพิธีทางพุทธ พอวันเผาก็ให้จัดพิธีทางคริสต์ก่อน แล้วจากนั้นเราก็จัดแบบไทย ฝรั่งวางดอกลิลลี่กัน พวกเราใช้ธูปแทนดอกไม้จันทร์วางบนโลงศพและวางดอกลิลลี่ด้วย แล้วมีพระสงฆ์ทำพิธีบังสกุลแบบไทยเรา และท่านก็ขึ้นเทศน์เป็นภาษาอังกฤษ ให้ทั้งแขกคนไทยและฝรั่งไปฟังพร้อมๆกันและอธิบายขั้นตอนทุกอย่างให้ฝรั่งฟังไปด้วย งานนั้นรู้สึกว่าประทับใจมาก เหมือนกับพวกเราได้ร่วมกันมอบสิ่งดีๆ ให้กับคนนอกศาสนาของเราด้วย

อยากจะสื่อว่า คนไทยเราไม่ว่าอยู่ที่ไหนยังไงเราก็ไม่ลืมวัฒนธรรมประเพณีของเราอยู่แล้วค่ะ

ยินดีที่ได้รู้จักและได้สนทนาร่วมกันอีกครั้งนะคะ


ตอบกลับความเห็นที่ 12
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 13
ขอเรียนว่า....นี่คือการที่วัดพุทธประทีป ในลอนดอน อังกฤษ ส่งเสริมการปฎิบัติธรรม ด้วยการชักจูงให้ผู้คนถือศีลอุโบสถ ( ศีลแปด ) นั้น.....เป็นกิจกรรมที่ดียิ่งของพุทธศาสนิกชน

การถือศีลจาริณี หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ก็คือการถือศีลแปด ในวัด โดยเฉพาะการเข้ามาทำพิธีกรรม ปฎิบัติธรรม และสวดมนต์ในพระอุโบสถทุก ๆ วัน ...... เมืองไทยเขาเรียกว่าอุโบสถศีล มีมานานแล้ว

หากโกนหัว ก็คือการละซึ่งความสวย ความงาม ออกจากตัว...ก็คือแม่ชี นั่นเอง ตามศีลข้อที่ 7 ว่าไว้ ดังนี้.............

นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนา มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะ มัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ


หมายความเป็นไทย ว่า.......ให้เว้นจากการฟ้อนรำขับร้องและการบรรเลง ตลอดจนถึงการดู การฟังสิ่งเหล่านั้น และเว้นจากการทัดทรงดอกไม้ การใช้ของหอมเครื่องประทินผิวหรือเครื่องสำอางค์ทุกชนิด ซึ่งรวมทั้งการโกนผมของพระพุทธเจ้า และพระภิกษุ เพราะ " ผม " คือส่วนหนึ่งของร่างกายที่สามารถประดิษฐ์ความงามในหลายรูปแบบได้

การถือศีลแปด เช่นว่านี้ ปัจจุบันมีผู้คนในเมืองไทยนิยมปฎิบัติกันมากมาย สำหรับสตรีก็นิยมทำกัน เช่น แม่ชีโกนหัว โกนผม หรือหากผู้ใดไม่อยากโกน เพราะยังรักสวยรักงามอยู่ อยากเก็บผมไว้ ก็ถือศีลอุโบสถได้ แม้จะไม่เต็ม ก็ยังดี เช่นพวกที่เรียกตัวเองว่า "บวชชีพราหมณ์" นั่นแหละ ( (มีมาเมื่อไม่นาน หลังพุทธกาล พ.ศ. 2500 นี้เอง ไม่ทราบว่าใครไปตั้งชื่อนี้ ? ? ? ....สับสนกันไปหมด ! ! ! .......มีพราหมณ์ที่ไหนบวชชีกันบ้าง ? ? ? ...ก็แค่ไปเอารูปลักษณ์ของพราหมณ์ที่ไว้ผมยาวมาใช้ แค่นั้นเอง)

และสุดท้าย ...ขอเรียนว่า การถือศีลในพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะเป็นศีล 5 แบบที่เรียกว่าศีลของฆราวาส หรือถือศีล 8 ที่เรียกว่าอุโบสถศีล หรือถือศีล 10 แบบที่สามเณรถือ จนถึงถือศีล 227 ข้อ เช่นพระภิกษุ......................ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น

เพียงแต่ต้องเข้าใจให้ดีว่า การถือศีลแปดข้อ หรืออุโบสถศีล ดังกล่าวข้างต้น ก็คือการปฎิบัติตนให้มีศีลครบแปดข้อ ในพระอุโบสถ .............. แต่มิใช่การบวช แต่อย่างใด การเรียกผู้ถือศีลแปดข้อว่า เป็นการบวช จึงไม่ถูกต้องทั้งประเพณี ทั้งพิธีกรรม ทั้งความหมาย และทั้งในความเป็นจริง

ในพระพุทธประวัติไม่มีปรากฎว่าพระพุทธองค์เคย " บวช " ให้ผู้ใดที่ถือศีลแปดข้อ

เรื่องอย่างนี้..... ก็ต้องว่าท่านเจ้าอาวาส หรือผู้คนที่ทำให้พุทธศาสนิกชนเขาเข้าใจผิดนั่นแหละ....สำคัญ

ตอบกลับความเห็นที่ 13
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 14
ขออนุญาตเข้ามาอีกครั้ง ด้วยเพราะกระทู้นี้ เป็นกระทู้ที่ดี มีประโยชน์ และโดยที่ข้าพเจ้าเป็นคนพุทธ..........จึงใคร่ขอเสนอความเห็นเพิ่มเติม.....เพื่อเป็นการเสวนาในระหว่างคนพุทธด้วยกัน ดังนี้

ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการบวช........

1. " บวช " เป็นคำภาษาไทย ที่กร่อนมาจากคำบาลีว่า " ปะวะชะ " หรือ " ปัพพัชชา " หมายถึง " การไปโดยสิ้นเชิง " คือพ้นไปจากการเป็นฆราวาสโดยสิ้นเชิง ไปครองผ้ากาสาวพัตร์ เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้า

การบวชในปัจจุบัน อันสืบเนื่องมาแต่ครั้งพุทธกาล มีพิธีกรรมสำคัญตามพุทธบัญญัติ ดังนี้

ต้องมีพระสงฆ์ 5 รูป ผู้บวชอยู่ในหัตถบาส คือบ่วงมือ หมายถึงอยู่ในวงล้อมของสงฆ์ ทั้ง 6 องค์รวมทั้งพระอุปัชฌาย์ บวชให้ด้วยการสวดญัตติ 1 ครั้ง อนุสาวนา 3 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้ง เรียก " ญัตติจตุตถกรรมวาจา" นี้ เป็นการบวชที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

ทังนี้ โดยต้องมีการเปล่งวาจา ขอบวช และต้องมีคำอนุญาตให้บวชได้ เป็นสำคัญ

ดังนั้น...ผู้ที่มิได้ผ่านพิธีกรรมอุปสมบท บวช เช่นว่านี้ ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ " บวชแล้ว " แต่อย่างใด

2. ผ้ากาสาวพัตร์ ( หรือ พัสตร์ ) เป็นคำไทยที่มาจากภาษาบาลี คือคำว่า คาซาว หมายถึงผ้าที่ย้อมด้วยน้ำฝาด ( จากเปลือกไม้บางชนิดแช่น้ำ ) อันมีสีเหลือง สีกรัก หรือสีขนุน .....รวมๆ คือ " ผ้าสีเหลือง "

ดังนั้น ผ้าขาวที่อุบาสก อุบาสิกา หรือผู้รักษาศีล ผู้ถือถือศีล หรือไม่ว่าจะเป็นแม่ชีปกติ หรือชีพราหมณ์ สรวมใส่ไปวัด ..... จึงไม่นับว่าเป็น " ผ้ากาสาวพัตร์ " ตามความหมายในพระพุทธศาสนา

ที่มา....อ้างอิงจาก........................

1. พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด " คำวัด " โดย พระธรรมกิตติวงศ์ ( ทองดี ฯ ป.ธ. 9 ) ราชบัณฑิต

2. มูลนิธิศึกษา และเผยแพร่พระพุทธศาสนา ( www.dhammahome.com )

สุดท้าย........ต้องขอเรียนชมเชยท่านเจ้าของกระทู้ผู้ใช้นามว่า nuumama ด้วยความเคารพ ว่า ท่านได้ประพฤติและปฎิบัติถูกต้องตามแบบพุทธศาสนิกชนที่ดีแล้ว

และใคร่ขอเสริมเพิ่มเติม ที่ท่านว่าไว้ในความเห็นที่ 10 นั้น....ว่า....ศาสนามิได้สอนให้คนงมงาย ....นั้น ท่านได้พูดถูกต้องแล้ว โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาของเรา พุทธะ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ดังนั้น ผู้คนที่เดินมาทางพุทธ จะไม่มีทางหลงงมงายเลย แต่..........................................

แต่........เขาจะต้องศึกษาพุทธศาสนาให้มาก ๆ ให้รู้ถ่องแท้ ว่าหัวใจแท้จริงของพระพุทธศาสนา คืออะไร ? ? ? เพราะสมัยต่างๆ จนถึงปัจจุบัน มีผู้คนที่บอกว่าเป็นพุทธ ได้หลงทางกันมาก.....เช่น ...จะหลงไปกับพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มิใช่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา (องค์สมเด็จพระสัมมาพระพุทธเจ้าท่านไม่มีพิธีกรรมมาก ) พิธีกรรมในบางอย่างเป็นเพียงการกระทำที่มนุษย์สมัยหลังๆ ประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อให้ดูศักดิ์สิทธิ น่าเลื่อมใส............แต่ในสภาพชีวิตปัจจุบัน มีพิธีกรรมหลายๆ อย่างเป็นไปเพื่อ " หนทางหากิน " ของบุคคลบางประเภท เท่านั้น

เรียนมาด้วยความเคารพ

และขอให้ท่านเจ้าของกระทู้เจริญในธรรม

ตอบกลับความเห็นที่ 14
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 15
คุณDetente ขอบคุณสำหรับคำแนะนำนะคะ

เรื่องการใช้คำเรียกที่ว่า บวช เนี่ย คือได้ยินกันมานานแล้วและก็ใช้ต่อกันมาเรื่อยๆค่ะ เห็นที่เมืองไทยก็ใช้คำนี้กันเยอะนะคะ ซึ่งก็เป็นคำที่ติดปากตามและเป็นการทำให้เข้าใจนั้นง่ายขึ้นในแง่ของชาวพุทธธรรมดาอย่างเราๆ เพราะว่าพวกเราไม่ใช่พระสงฆ์ อะไรที่เห็นว่าทำให้ง่ายต่อการเข้าใจของคนธรรมดาทั่วไป ก็ไม่น่าจะต้องเป็นเรื่องซีเรียสมากมายหรือเปล่าค่ะ

เคยเข้าร่วมปฎิบัติธรรมในวัดที่เมืองไทยมาก่อน คนก็เรียกกันง่ายๆด้วยคำนี้กันนะคะ เพราะฉะนั้นไม่ได้เกิดมาจากท่านเจ้าอาวาสแน่นอนค่ะ มีการใช้คำนี้ในวัตุประสงค์นี้มานานแล้วค่ะ

ส่วนตัวคิดว่าพระท่านคงจะไม่ใช้คำนี้กัน แต่พวกเราๆเองที่นำมาใช้น่ะคะ ก็ขออภัยด้วยหากเห็นว่าไม่สมควรค่ะ ก็เอาเป็นว่า มีคนมาอธิบายให้ฟัง เมื่อรู้แล้ว ก็จะพยายามเลี่ยงที่จะไม่ใช้คำนี้นะคะ


ตอบกลับความเห็นที่ 15