ในการสอบทุนไปนอก จำเป็นแค่ไหนที่จะต้องเลือกหัวข้อวิจัยให้สอดคล้องกับประเทศที่ไปเรียน

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผมไปสอบสัมภาษณ์ทุนญี่ปุ่นครับ
หัวข้อวิจัยที่เขียนไว้ใน study plan นั้นจะเกี่ยวข้องกับสงครามต่อต้านผู้ก่อการร้าย
(ที่เลือกหัวข้อนี้ เพราะมีความสนใจส่วนตัว เวลาทำ thesis จะได้อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกทุกข์ทรมานนัก)

ตอนช่วงท้ายสัมภาษณ์ เจอกรรมการ comment มาว่า ผมเลือกประเทศที่เรียนไม่ถูก เพราะญี่ปุ่นไม่ใช่ประเทศที่เป็นผู้เล่นสำคัญในการต่อต้านการก่อการร้าย ผมควรจะไปเรียนอเมริกาหรืออังกฤษมากกว่า (ซึ่งแน่นอนว่าทางนั้น ไม่แจกทุนมากเท่าทุนมง และเอาเฉพาะเด็กเทพๆ )

ถึงแม้ผมจะได้กล่าวเอาไว้ตอนเริ่มสัมภาษณ์ว่า เลือกเรียนญี่ปุ่นเพราะมีประสบการณ์มาเรียนแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น 1 ปี และได้วางแผนปรึกษากับอาจารย์ที่ญี่ปุ่นไว้แล้วล่วงหน้าระยะหนึ่ง และมีโอกาสพัฒนาภาษาญี่ปุ่นให้เชี่ยวชาญเพิมเติมจากภาษาอังกฤษ ทางกรรมการเห็นว่าเป็นเพียงความเหมาะสมในทางปฏิบัติ แต่ไม่เหมาะสมในเชิงวิชาการ

ผมพยายามตอบไปว่า การเรียนที่ญี่ปุ่นจะช่วยให้ได้มุมมองที่แตกต่างไปจากกระแสหลักจากชาติตะวันตก และจะได้มุมมองที่เป็นกลางมากกว่าเพราะญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีความเป็นกลาง แม้จะเป็นมิตรกับฝ่ายตะวันตก แต่ก็รักสันติและต่อต้านสงคราม ในขณะเดียวกัน อาจารย์ที่ปรึกษาก็มีประสบการณ์ทำงานในองค์การระหว่างประเทศที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว

ทางกรรมการถามกลับมาว่า เคยอ่านบทความโดยนักวิชาการญี่ปุ่นไหม ผมตอบไปว่าไม่ เพราะภาษาญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับ N3 (ตอนต้นการสัมภาษณ์ผมบอกกรรมการไว้ชัดเจนว่า หลักสูตรที่เลือกเรียนเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ ซึ่งจะช่วยให้ผมสามารถใช้ความรู้ทางภาษาอังกฤษเริ่มการค้นคว้าได้ทันที และก็ให้โอกาสผมพัฒนาภาษาญี่ปุ่นควบคู่ไปด้วย) ข้อมูลที่เตรียมไว้แล้วเป็นของนักวิชาการตะวันตกทีเขียนด้วยภาษาอังกฤษทั้งหมด อย่างไรก็ตามเมื่อระดับภาษาพัฒนาขึ้น ก็จะนำมาข้อเขียนดังกล่าวมาศึกษาอย่างแน่นอน แต่ตอนนี้ก็ต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไปก่อน

ผลสัมภาษณ์ออกมาว่าไม่ผ่านครับ

หากผมจะสอบทุนญี่ปุ่นอีกครั้งในปีถัดไป พอจะเป็นไปได้หรือไม่ครับที่จะเลือกทำหัวข้อเดิม (ก่อนสอบรอบนี้ ผมอ่านข้อมูลเตรียมเอาไว้ไม่น้อย เสียดายครับ แล้วถ้าจะเอาเรื่องที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นจริงๆอย่างเรื่อง หมู่เกาะเซนคาคุ ฐานทัพอเมริกาในโอกินาว่า ก็ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์เลย) และถ้าเป็นไปได้ ควรตอบข้อสงสัยกรรมการอย่างไรดีครับถึงจะฟังขึ้น

ขอบคุณครับ

ความคิดเห็นที่ 1
ขอตอบว่าจำเป็นค่ะ

คำถามว่า "ทำไมไม่ไปเรียนทางยุโรป ทางฝรั่ง ทางอเมริกาล่ะ" เป็นคำถามที่ยากมาก สำหรับคนที่จะมาเรียนญี่ปุ่น โดยเฉพาะคนที่จะมาเรียนทางสายสังคม ที่ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น แต่จะโดนถามตลอด เราไม่ได้สอบทุนมงรอบสถานทูต แต่เวลาส่ง study plan ไปให้ อ.คนที่ญี่ปุ่นตรวจเช็ค อ.ก็บอกว่ามันเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องตอบให้ได้

การเรียนปริญญาโทมันเป็นการเรียนทางแนววิชาการ ถ้าหากหัวข้อไม่สอดคล้องกับประเทศที่เชี่ยวชาญในทางนั้น หรือเจอปัญหาเช่นนั้นบ่อยๆ ตำรา หนังสือ งานวิจัย จะเอาจากที่ไหนมาเขียนธีซิส เพราะเมื่อมันไม่เป็นปัญหาในประเทศนั้น การศึกษาของเขาก็น้อยลงตามไปด้วย

โดยเฉพาะญี่ปุ่น อย่าลืมนะคะ ว่าแนวคิดทางวิชาการทางสายสังคมศาสตร์ มันไม่ใช่สิ่งที่ญี่ปุ่นคิดขึ้นมาเอง แต่ไปเอาของมาจากตะวันตกอีกที ความแน่นมันไม่เท่ากันอยู่แล้ว

ยิ่ง จขกท จะไปเรียนแบบอินเตอร์ อินเตอร์ญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้แน่นเหมือนเจ้าของประเทศเขาจริงๆ จะศึกษาทีลำบากมากค่ะ เราเข้าใจว่าเด็กที่สอบทุนมงหลายๆ คนคือ เด็กที่อยากกลับไปญี่ปุ่นอีกหลังจากไปแลกเปลี่ยนหรือเคยไปมาแล้ว (เราเองก็เช่นกัน) ความรู้สึกอยากกลับไปญี่ปุ่นเต็มที่ แต่แล้ว "จะเรียนอะไร" ตอบอยากมาก

เรื่อง terrorist เราค่อนข้างเห็นด้วยกับกรรมการว่าญี่ปุ่นไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นเองก็ระบุให้ไม่มีกองทัพ และจริงๆก็ไม่ใช่ประเทศที่เป็นกลางเท่าไหร่... เราจึงไม่แน่ใจว่าญี่ปุ่นมีความสำคัญกับโลกในมุมนี้เท่าไหร่นัก ลงไปเล่น ไปมีบทบาทมากก็ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญห้าม ผลงานวิจัย ของที่เขาทำไว้แล้วให้เราศึกษาก็ไม่มี ถ้า จขกท จะทำหัวข้อนี้ต่อ ก็ต้องตอบคำถามนี่ให้ clear กว่านี้น่ะค่ะ ว่าญี่ปุ่นมีเฉพาะตัวที่ฝรั่งไม่มี มาเรียนญี่ปุ่นดีกว่าตรงไหน เรื่องมุมมองตะวันตกตะวันออกมันเป็นเรื่อง basic ถึงไม่ใช่เรียนเรื่องนี้ก็ต้องได้รับอยู่แล้ว มันไม่ clear ค่ะ อีกอย่างนึง จขกท บอกแค่ว่าจะมีเรื่องเกี่ยวกับสงครามการก่อการร้าย มันกว้างมากมายค่ะ เกี่ยวพันไปหลายอย่าง จะเลือกศึกษาในมุมไหน ยังไง ก็ต้องตอบตัวเองด้วย

ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าเรื่องแบบไหนไม่ไม่ควรไปเรียน.....
อย่างเราเรียนนิติ ขอระบุอย่างฟันธงเลยว่า เรื่องที่ไม่ work ที่จะมาเรียนที่ญี่ปุ่นคือ กฎหมายครอบครัว กับ กฎหมายทางสิทธิมนุษชน เพราะ กฎหมายครอบครัวมันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมเฉพาะประเทศ เอาไปใช้กับชาติอื่นไม่ได้ มาเรียนก็ไม่ได้อะไร (เว้นแต่ว่าจะศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ ไม่ได้เอามาเปรียบเทียบหรือปรับใช้อะไรกับของไทย) ส่วนกฎหมายทางสิทธิมนุษยชน เขา import ความคิดมาจากทางตะวันตก ญี่ปุ่น (และประเทศทางเอเชีย) เองก็ไม่ใช่ประเทศที่เคารพสิทธิมนุษยชนแน่นเท่ากับประเทศตะวันตก ก็จะเจอคำถามนี้แหละค่ะ ว่าจะดีหรือที่จะมาเรียนที่ญี่ปุ่นในเรื่องนี้

ญี่ปุ่นยังมีประเด็นปัญหาอีกเยอะเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่คนไทยไม่ทราบกัน เรื่องปัญหาชาติพันธุ์ minority ในญี่ปุ่นเองก็ยังเป็นประเด็น , เรื่อง criminology อาชญวิทยา หรือจิตวิทยาทางอาชญกรรมก็น่าศึกษา เพราะมีคดีแปลกๆ อย่างคดีแก๊สซาลินของโอนชิเคียว, กฎหมายเช่าบ้านอาคาร (เพราะที่น้อย) และอื่นๆ

ยังมีมุมอีกมาก ถ้าไม่รู้ก็ต้องทำการบ้าน ก็ต้องเตรียมตัวรู้เรื่องนั้นๆ แบบคร่าวๆ ไม่มีทางอื่นค่ะ แนะว่าเวลาเลือกจะศึกษาเกี่ยวกับประเทศนั้นๆ มองที่ข้อไม่ดี ปัญหาที่เกิดในประเทศนั้นมาก่อน มากกว่ามองว่าเขาดีแต่แรกค่ะ เพราะถ้ามองจากปัญหา มันเป็นเรื่องเฉพาะของประเทศอยู่แล้ว และมีวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน หาข้อเกี่ยวข้องกับประเทศนั้นได้มากกว่าค่ะ

ตอบกลับความเห็นที่ 1
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 2
ที่จริงแล้วเรื่อง "ประเทศ" ที่จะไปเรียนไม่น่าจะเป็นเรื่องหลักนะคะ ที่สำคัญคืออาจารย์ที่ปรึกษา และมหาวิทยาลัยว่ามีความเข้มแข็งในด้านที่เราจะไปเรียนหรือเปล่า เช่น มีสถาบันวิจัยด้านนี้ มีห้องสมุดด้านนี้ ถ้าสองเรื่องนี้ไม่ชัดเจน คำถามต่อไปถึงเป็นว่าประเทศที่ไปเรียนนั้นมีความเด่นทางวิชาการด้านที่เราสนใจอย่างไร (ไม่ใช่ว่าญี่ปุ่นเป็นชาติที่เป็นกลาง​ฯลฯ อย่างที่คุณตอบ แต่ประมาณว่าที่ญี่ปุ่นมีแนวทางการศึกษาเรื่องการก่อการร้าย หรือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไร) คุณอาจจะยังแสดงเหตุผลเรื่องพวกนี้ยังไม่ชัดเจนมั้งคะ แล้วก็อาจจะต้องอ่านงานของนักวิชาการญี่ปุ่นไปบ้าง ที่เป็นภาษาอังกฤษก็ได้ เพื่อแสดงให้เขาเห็นว่าเตรียมพร้อมจะไปศึกษาจริงๆ

หรือว่ามันเป็นเงื่อนไขทุนหรือเปล่าคะว่าต้องไปเรียนในเรื่องที่ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ (เคยเห็นทุนบางทุนกำหนดแบบนี้)


ตอบกลับความเห็นที่ 2
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 3
เห็นด้วยกะ คห 1 อย่าลืมว่า ประเทศที่ให้ทุน เขาไม่ให้ทุนเปล่าๆนะ เขาก็หวังผลทางด้านมันสมองของผู้เรียน ที่จะมาช่วยทำให้ประเทศเขามีการพัฒนาเหมือนกัน

สู้ๆค่ะ


ตอบกลับความเห็นที่ 3
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 4
จากมุมมองของคนทั่วไปอย่างผม
หัวข้อที่คุณเลือกกับประเทศญี่ปุ่น มันไม่สอดดล้องกัน
อีกอย่าง กรรมการทุน จะพิจารณาว่า
สาขาที่เลือกเรียน หรือหัวข้อวิจัยนั้น
จะมีประโยชน้ต่อผู้เรียน และการพัฒนาประเทศของผู้เรียนอย่างไร


ตอบกลับความเห็นที่ 4