เอาเรื่องการลอยโคมมากฝากค่ะ สำหรับคนขยันอ่าน ^^ สนุกดีนะ

ต่อไปนี้ "โคมยี่เป็ง" จะไม่ใช่สัญลักษณ์ประเพณีลอยกระทงของชาวล้านนาอีกต่อไป เมื่อ "โคมลอย" กำลังกลับมาทวงคืนพื้นที่ความสุขในวันยี่เป็ง

"ไม่เป็นไรหรอกค่ะคุณป้า จุดเถอะ เห็นมั้ยคะใครๆ ก็จุดกัน" หญิงสาววัยยี่สิบปลายๆ เอ่ยขึ้นทำนองคะยั้นคะยอ

"ไม่เอา ป้ากลัวไฟไหม้" หญิงชราที่มากับเธอปฏิเสธ ก่อนจะพาตัวเองเดินออกไปจากบริเวณวัดแห่งนั้น ซึ่งขณะนี้เนืองแน่นไปด้วยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กำลังสนุกสนานกับการจุดโคมไฟแล้วปล่อยให้ลอยละล่องขึ้นไปเต็มท้องฟ้า
............................

หลายปีมาแล้วที่ "โคมไฟ" เข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนไทยในฐานะ "กิจกรรม" หนึ่งของนักท่องเที่ยว และ "โคมไฟ" แบบเดียวนี้เองที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของการจัดงานลอยกระทงแบบล้านนา จนมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "โคมยี่เป็ง"

ดวงไฟที่สวยงามเมื่อยามลอยขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้าอันมืดมิดคือเสน่ห์ของโคมยี่เป็งที่หลายคนสัมผัสได้ แต่มากกว่าความโรแมนติกที่น่าประทับใจ โคมลอยที่มีไฟเป็นตัวนำแบบนี้คือชนวนเหตุอย่างดีที่ทำให้เกิดปัญหาอัคคีภัย ซึ่งจะว่าไปแล้ว "ป๋าเวณียี่เป็ง" ของชาวล้านนาเชียงใหม่ไม่ได้มี "โคมไฟ" เป็นเครื่องหมายมาตั้งแต่แรก หากแต่เป็น "ว่าวฮม" หรือ "โคมลอย" ต่างหาก ที่รับหน้าที่พระเอกของงาน

"ตอนพี่เด็กๆ ไม่มีโคมไฟเลยนะ มีแต่โคมลอย ทางเหนือจะเรียกว่า ว่าวฮม ทุกอย่างที่ลอยอยู่บนฟ้าจะเรียกว่า ว่าว ส่วน ฮม ก็เหมือนกับการรมควัน ปีหนึ่งเราจะเห็นโคมลอยครั้งเดียวคือยี่เป็ง แต่ละวัดเขาจะลอยกัน แล้วก็ลอยกลางวัน จะลอยเฉพาะในวัดเท่านั้น วัดละ 1 ลูก นั่นคือสมัยเด็กๆ" คำบอกเล่าของ เสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง เลขานุการชมรมคนจ๊างม่อยฮักเจียงใหม่ ฉายให้เห็นถึงภาพความน่ารักของงานประเพณียี่เป็งที่แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก

เสาวคนธ์ เล่าว่า ประเพณียี่เป็ง หรือประเพณีเดือนยี่ เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวล้านนาที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน โดยคำว่า ยี่ ในภาษาล้านนาหมายถึงเดือนสอง ส่วนคำว่า เป็ง หมายถึง พระจันทร์เต็มดวง ดังนั้น ยี่เป็ง จึงหมายถึงวันเพ็ญเดือนสอง ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของชาวไทยภาคกลาง

"วันยี่เป็งคนเมืองเขาจะเข้าวัดสวดมนต์ก่อนในตอนเช้า พอหลังจากสวดมนต์ ฟังเทศน์ ฟังธรรมเสร็จ เขาก็จะลงมาปล่อยโคม แล้วโคมลอยก็ต้องปล่อยหลัง 10 โมงด้วย เพราะถ้าก่อนหน้านั้นความกดอากาศยังไม่ดีพอ โคมลอยจะไม่ขึ้น ต้องประมาณ 10 โมงถึงเที่ยงๆ จึงจะเหมาะ ชาวบ้านก็จะมาลอยโคมที่วัด ส่วนโคมไฟอย่างทุกวันนี้พี่เพิ่งเห็นมีมาเมื่อ 10 กว่าปีนี้เองนะ โคมไฟมันสวย เมื่อก่อนพี่ก็ชอบ แต่มีวันหนึ่งที่โคมมันไปตกในบ้านเพื่อนเรา คนในบ้านไม่มีใครเห็น แต่มีเพื่อนบ้านมาเห็นพอดี เขาเลยปีนรั้วเข้าไปเอาออก ลองคิดดูว่าถ้าไม่มีใครเห็นจะเกิดอะไรขึ้น"

เกี่ยวกับอันตรายของโคมไฟเท่าที่เคยพบเห็นมา เสาวคนธ์เล่าว่ามีมากกว่า 10 เหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็น ไฟไหม้ "คุ้มขันโตก" ร้านอาหารพื้นเมืองชื่อดังอันมีต้นเหตุมาจาก "โคมไฟ" หรือข่าวโคมไฟที่ตกลงไปบนเต็นท์นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวในอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งจนเกิดเพลิงไหม้เป็นบริเวณกว้าง หรือเหตุการณ์ยิบย่อยอีกนับไม่ถ้วน

"อย่างที่ตรอกเล่าโจ๊ว ตลาดวโรรสนั่นก็ดังมาก เพราะโคมลอยไปตกบนหลังคา ไหม้บ้านหมด รถดับเพลิงเข้าไม่ได้ คนก็เยอะเพราะเป็นวันลอยกระทง ไฟไหม้ร้านที่ขายผ้าฝ้ายซึ่งเป็นเชื้ออย่างดีเลย เคราะห์ดีของคนในย่านนั้นที่มันไม่ลามไปที่อื่น เพราะย่านนั้นเป็นตลาดเก่า ถ้ามันลามไปก็ถือว่าเป็นการเสียหายครั้งใหญ่"

เมื่อตระหนักถึงอันตรายของโคมไฟ ชุมชนช้างม่อย นำโดย "ชมรมคนจ๊างม่อยฮักเจียงใหม่" จึงได้ร่วมกันฟื้นประเพณียี่เป็งแบบโบราณขึ้นมาใหม่ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมพร้อมๆ ไปกับการจัดการชุมชนที่กำลังถูกรุกรานจากสถานบันเทิงต่างๆ รอบชุมชน

"ช้างม่อย เป็นถนนเส้นที่จะเชื่อมต่อจากคูเมืองเก่าเข้าไปที่ตลาดวโรรส ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของเรา ใครๆ ก็จะไปตลาดวโรรส เส้นนี้จะมีถนน 3 สายที่สำคัญ มีช้างม่อย ท่าแพ และลอยเคราะห์ จากที่ความเจริญเข้ามาบ้านเรา แล้วเราไม่มีเกราะว่าจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะดูแลเมืองให้อยู่อย่างมีเสน่ห์ เป็นเชียงใหม่เหมือนในสมัยก่อนได้...ก็เลยคิดว่า เอ๊ะ...เชียงใหม่เรามีต้นทุนเดิมคือ วัฒนธรรม คนมาเชียงใหม่ก็ชอบในสิ่งที่เราเป็น แต่มาหลังๆ นี้ เหมือนกับว่าเพื่อเศรษฐกิจ เพื่อการท่องเที่ยว ทำโน่นทำนี่จนบดบังความเป็นเชียงใหม่ไปหมด เราก็มาคิดว่า ทำเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมดีไหม"

จริงๆ แล้วชมรมคนจ๊างม่อยฮักเจียงใหม่จัดกิจกรรมเพื่อรวบรวมความเข้มแข็งให้กับชุมชนมาตั้งแต่งาน "ปี๋ใหม่เมือง" เมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา แต่ถ้าไม่จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องก็เกรงว่าสิ่งที่ทำจะสูญเปล่า ทุกๆ ครั้งที่มีวันสำคัญจึงพยายามจัดกิจกรรมเพื่อเชื่อมร้อยความเข้มแข็ง จนล่าสุดนี้ในงานวันยี่เป็งปี 2555 เสาวคนธ์และเพื่อนๆ ในชมรมฯ ตลอดจนเครือข่ายชุมชนคนรักษ์เชียงใหม่ และภาคีอีกมากมาย จึงได้ร่วมกันจัดงาน "ป๋าเวณียี่เป็งเจียงใหม่" ในแบบโบราณขึ้นมาอีกครั้ง

"จุดขายของเชียงใหม่บางคนบอกว่าเป็นโคมไฟที่ลอยกันเยอะๆ ซึ่งตกลงมาทีไรไฟไหม้บ้านทุกที วันลอยกระทงคนเชียงใหม่ไม่ไปไหนแล้ว ต้องเฝ้าบ้าน เพราะมันอันตราย ทีนี้ต้องมีสิ่งทดแทน ถ้าเราจะไม่ให้เขาลอยโคมไฟต้องทำอย่างอื่น ก็เลยเป็นกิจกรรมเดือนยี่เป็งที่เราจะจุดประทีปรอบคูเมืองจากถนนช้างม่อยไปจนถึงรอบคูเมืองด้านใน ซึ่งคนทั่วไปเขายินดีมาร่วม เมื่อเราได้ร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมเราจะเห็นปัญหาเลย อย่างเมื่อก่อนถ้าเป็นยี่เป็งก็จะเล่นประทัดยักษ์ ปล่อยโคมไฟ เปิดร้านเปิดบาร์โต้รุ่งเลย เมื่อเราเอาจุดนี้เข้ามาคนก็เริ่มเข้ามาเรื่อยๆ เราเดินมาทางด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างนี้มันน่าจะร้อยใจคนได้ แล้วก็จะนำไปสู่การพูดคุยกันมากขึ้น"

สำหรับการฟื้นประเพณียี่เป็งขึ้นมาใหม่นั้น เสาวคนธ์ ในฐานะเลขานุการชมรมคนจ๊างม่อยฮักเจียงใหม่ อธิบายว่า เริ่มจากการพูดคุยถึงถึงอันตรายของโคมไฟ แล้วนำโคมลอย หรือว่าวฮม กลับมา ซึ่งว่าวฮมนั้นเป็นโคมที่ทำขึ้นจากกระดาษว่าวหลายๆ ชิ้นนำมาต่อกันจนเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า ก่อนจะนำมารมควันเพื่อให้ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า และนี่ก็คือสัญลักษณ์ของการร่วมไม้ร่วมมือของชุมชนอย่างแท้จริง

"โคมลอยสมัยก่อนมันเหมือนกับเป็นการร่วมกันทำ ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการช่วยกัน แล้วก็ปล่อยโคมกันเป็นเรื่องสนุกสนาน เขาจะทำก่อนวันลอยจริง 1 วัน อุปกรณ์ก็มีกระดาษว่าว กับไม้ไผ่บางๆ ขดเป็นวงกลมเพื่อทำเป็นปล่องให้ควันเข้าไป อาจจะใส่ประทัดนิดๆ หน่อยๆ เพื่อให้เสียงดัง หรือให้รู้ว่าขึ้นไปแล้ว แล้วก็มีเศษกระดาษว่าวเป็นฝอยๆ ให้มันแตกมาเป็นฝอยๆ สมัยก่อนจะเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า แต่พักหลังๆ เห็นมีเป็นรูปเหมือนบอลลูน เป็นรูปแพนด้า โดราเอม่อน เยอะแยะไปหมด"

เสาวคนธ์ บอกว่า คนเฒ่าคนแก่ในชุมชนเคยเล่าว่า ก่อนจะลอยโคมต้องตัดผมและเล็บใส่ลงไปในโคมลอยด้วย เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ ดังนั้นเมื่อโคมลอยลอยไปตกที่บ้านใคร จึงเชื่อกันว่าเป็นบ้านที่ได้รับเคราะห์ เมื่อเกิดความกลัวจึงต้องมีการนิมนต์พระมาทำพิธี เป็นการถอนความชั่วร้ายที่มากับโคม

"พ่อครูอำพัน(สล่าเชียงใหม่) บอกว่า สมัยก่อนเขาเอาข้าวตอกดอกไม้และอาหารแห้งใส่สะตวงไปในโคมลอยด้วย เหมือนกันว่าไปตกที่ไหนก็ให้ของพวกนี้สามารถเอาไปกินไปใช้ได้ ถือเป็นการทำบุญด้วย"

เรื่องที่เสาวคนธ์เล่าสอดคล้องกับข้อมูลของ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ระบุไว้ผ่านทาง www.library.cmu.ac.th ว่า

...ปัจจุบันยังมีความเชื่อว่า ว่าวฮมและว่าวไฟสามารถปล่อยเคราะห์ได้ จึงมักมีการนำเอาเล็บและเส้นผมใส่ลงไปในสะตวง เพื่อลอยเคราะห์ให้ออกไปจากตัว บ้างผูกจดหมายเขียนคร่าวร่ำ (ค่าวฮ่ำ) และใส่เงินเป็นรางวัลให้สำหรับผู้เก็บว่าวที่ตกได้ (พระครูอดุลสีลกิตติ์ (ฐานวุฑโฒ), สัมภาษณ์, 4 พฤศจิกายน 2551)

มีการบันทึกไว้ว่าเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2480 มีว่าวตกที่บริเวณกู่ว่าวใกล้ถนนสายเชียงใหม่ดอยสะเก็ด ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 8 กิโลเมตร มีป้ายเป็นภาษาพม่าบอกว่าเป็นว่าวมาจากเมืองมะละแหม่ง ชาวเชียงใหม่เดินทางไปรับรางวัลที่มะละแหม่ง ใช้เวลาประมาณสามเดือน และชาวมะละแหม่งได้ให้การต้อนรับอย่างเอิกเกริก และประมาณปี 2541 ว่าวของเทศบาลนครเชียงใหม่ลอยไปตกที่เมืองหลวงพระบาง และชาวเมืองหลวงพระบางได้นำว่าวมารับรางวัลจากเทศบาลนครเชียงใหม่ด้วย (สมพล ไวโย และอุดม รุ่งเรืองศรี, 2542, หน้า 6260)

ในอดีตเชื่อว่าว่าวไฟหรือโคมไฟตกที่บ้านใคร จะทำให้บ้านนั้นโชคร้าย หรือเป็นบ้านร้าง เนื่องจากรับเคราะห์ของคนที่ได้อธิษฐานปล่อยเคราะห์ แต่ปัจจุบันความเชื่อแบบนี้ไม่ได้ยึดถือกันแล้ว...

กิจกรรมในวันยี่เป็งแบบโบราณ เลขานุการชมรมคนจ๊างม่อยฮักเจียงใหม่ บอกว่า จะทำกัน 2 วัน คือ วันขึ้น 14 และ 15 ค่ำ เดือน 2 โดยชาวบ้านจะประดับประดาบ้านด้วยโคมล้านนาแบบต่างๆ จากนั้นในค่ำของวันขึ้น 14 ค่ำ ผู้เฒ่าผู้แก่และเด็กๆ สมาชิกทุกคนในชุมชนจะเดินทางไปที่วัดเพื่อจุด "ผางปะตี๊ด" หรือ ดวงประทีป ที่ทำจากดินเผา บริเวณรอบๆ ฐานพระและรอบเจดีย์ จากนั้นจะพากันกลับมาที่บ้านเพื่อจุดดวงประทีปในครัวไฟ ยุ้งข้าว หน้าต่าง บันได ถือเป็นการแสดงความเคารพต่อสิ่งที่เราได้ใช้ประโยชน์มาตลอดปี

เมื่อถึงเวลาเช้า ชาวบ้านจะพากันเข้าวัดเพื่อฟังเทศน์ ฟังธรรม ตกเวลา 10.00 น. ก็จะออกมาร่วมกันสุมควันใส่โคมลอย แล้วปล่อยออกไป เป็นการบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ตามความเชื่อแบบโบราณ ตกเย็นก็กลับไปจุดผางปะตี๊ดในวัดอีกครั้ง แล้วกลับมาจุดที่เรือนชาน ก่อนที่หนุ่มๆ สาวๆ จะออกไปเล่น "บอกไฟ" หรือพลุไฟแบบโบราณที่ปัจจุบันหาดูแทบไม่ได้แล้ว

"บอกไฟ สมัยเด็กๆ จะชอบมาก แต่พอหลังจากปะทัดทั้งหลายเข้ามาเยอะ เราเริ่มกลัว ตอนนั้นมีบอกไฟหม้อ เป็นกระถางดินเล็กๆ แล้วเขาก็จะใส่อะไรเข้าไปข้างใน เวลาเราจุดไม้ขีดมันก็จะมีเปลวไฟพุ่งขึ้นมาเป็นพุ่มน่ารักมาก แต่ตรงนี้เริ่มหายไปเรื่อยๆ กลายเป็นพุสมัยใหม่ แล้วไปๆ มาๆ มีโคมไฟด้วย และตั้งแต่มีโคมไฟ คนเชียงใหม่ไม่ออกบ้านนะ ทุกคนต้องเฝ้าบ้าน ต้องดูว่าจะตกที่บ้านเราหรือเปล่า กลายเป็นว่าลอยกระทงเชียงใหม่ทำให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยว คนต่างถิ่นมาถึงมาเฮๆ สวยๆ แต่คนเชียงใหม่ต้องเฝ้าบ้าน ไปไหนไม่ได้แล้ว บางบ้านที่มีดาดฟ้าต้องเกณฑ์ลูกหลานขึ้นไปช่วยกันดู ซึ่งความเจริญบางทีเราคิดถึงเรื่องตัวเงิน คิดถึงเรื่องเศรษฐกิจมากเกินไป แล้วเอาตัวนี้มาเป็นจุดขาย ถ้าเราไม่ทำอะไรเวลานี้ ข้างหน้าจะเป็นยังไง"

นั่นเป็นคำบอกเล่าสุดท้ายของเสาวคนธ์ ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของคนช้างม่อยที่พยายามอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กับการปลุกพลังของชุมชนให้ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง

เครดิต : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 09:00

ความคิดเห็นที่ 1
ประเพณีที่เคยดีงาม ตอนนี้โดนตัดแต่งพันธุกรรมจนไม่เหลือเค้าเดิมไปหมดแล้ว
เอามันส์เข้าว่า แต่ไม่ได้ใช้ปัญญาพินิจพิเคราะห์ผลดีผลเสียเลย
หรือคนสมัยนี้มันโง่กว่าคนสมัยก่อนหว่า


ตอบกลับความเห็นที่ 1
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 2
เคยเห็นคนปล่อยโคมริมทะเล ตอนนั้นนั่งหัวเราะ
แต่ตอนนี้เห็นปล่อยโคมในกรุงเทพ หัวเราะไม่ออกละค่ะ - -"


ตอบกลับความเห็นที่ 2
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 3
ประเพณีเก่าแก่กลายพันธ์จนแทบจะไม่เหลืออนุพันธ์เดิมแล้วครับ


ตอบกลับความเห็นที่ 3
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 4
ประเพณีอันดีงาม
มันจะสูญสิ้นไปก็เพราะ คนในยุคปัจจุบัน ทำอะไรไม่ค่อยคิดนี่แหละ

โคมลอยที่ จขกท พูดถึง เป็นโคมแบบนี้ ไม่ได้จุดไฟ แค่รมด้วยควันไฟ แล้วปล่อยมันขึ้นไป ไม่อันตราย


ตอบกลับความเห็นที่ 4
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 5
จะเห็นได้วันเดียวเท่านั้นคือวันยี่เป็ง จะลอยกันตอนกลางวัน
และจะมีประกวดโคมลอยกันด้วย โดยโคมที่ลอยขึ้นไดสวยงาม
เมื่อลอยขึ้นไปได้ระยะหนึ่งแล้ว จะปล่อยหางลงมาซึ่งยาวมากๆ
แล้วแต่จะใส่เข้าไป และโคมไหนสวยงาม มีลูกเล่นแพรวพราวที่สุด
ในขณะที่ลอยขึ้นไป ก็จะได้รับรางวัลที่หนึ่งไปครอง
ที่โคมแบบนี้ไม่ได้รับความนิยมก็คงเพราะ ปล่อยยากมาก
ต้องใส่ลอเข้าไป ต้องรมควัน ช่วยกันหลายๆคน ไม่เหมือนโคมที่ใช้ไฟ ปล่อยคนเดียวก็ได้


ตอบกลับความเห็นที่ 5
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 6
ขอบคุณ จขกท และ คุณชายปลายดอยมากเลยนะรับที่ให้ความรู้พร้อมภาพโคมลอยที่แท้จริง (เพิ่งเคยเห็นครั้งแรก) . ซึ่งคงใช้เวลานานพอควร กว่าจะทำให้โคมขนาดใหญ่ๆ ลอยขึ้นไปได้. แถมปลอดภัยจากไฟไหม้ 100% เพราะไม่ได้มีไฟติดไปด้วย. ถึงว่า. เขาลอยกันกลางวัน. ประกวดความสวยงามและความคิดสร้างสรร. ทำใบใหญ่ๆเห็นชัดดี. ไม่ได้เอาแสงจากไฟเพื่อให้ดูเหมือนดาวในตอนกลางคืน. นี่ตอนปีใหม่จะมีลอยกันอีกหรือเปล่าก็ไม่รู้.
ตอบกลับความเห็นที่ 6
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 7
โคมแบบที่คุณชายปลายดอยเอารูปมาฝาก สวยจังค่ะ
ความยากนี่ละคือเสน่ห์ ทำไมไม่รณรงค์ให้ปล่อยแบบนี้นะ สร้างความสามัคคีดีออก


ตอบกลับความเห็นที่ 7
   
  
 
 
   
ความคิดเห็นที่ 8
เราเป็นคนนึงที่ต่อต้านการลอยโคมมาก

มันสวยงาม(แป๊บเดียว) ก็จริง

แต่ความเดือดร้อนที่ตามมามันเยอะมาก


ตอบกลับความเห็นที่ 8